ศูนย์วิจัยฯ กรมอุทยานฯ เผย โดรนสำรวจพบฝูงพะยูน 21 ตัว ว่ายอวดโฉมบนเกาะลิบง สัญญาณดีระบบนิเวศทางทะเลตรัง
วันนี้ ( 26 เ.ย.68 ) ศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 (ตรัง) เปิดเผยผลการสำรวจพะยูนและหญ้าทะเลล่าสุดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง พบสัญญาณบวกต่อความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล โดยใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการสำรวจ
นายจินดา ศรีสุพพัตพงษ์ หัวหน้าศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 (ตรัง) รายงานว่า จากการบินสำรวจด้วยโดรนในช่วงเวลาน้ำขึ้น บริเวณเกาะลิบงและเกาะมุกด์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า สามารถบันทึกภาพฝูงพะยูนได้จำนวนถึง 21 ตัว บริเวณเกาะลิบง ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น่าพอใจ จากการสังเกตการณ์ผ่านโดรน พบว่าพะยูนฝูงดังกล่าวมีพฤติกรรมที่หลากหลาย ทั้งการหากินหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารหลัก การรวมฝูง และการพลิกตัวเล่นน้ำ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ประเมินความสมบูรณ์ของร่างกายพะยูนเบื้องต้น (Body Condition Score: BCS) พบว่าอยู่ในเกณฑ์ 2/5 และ 3/5 ซึ่งบ่งชี้ถึงสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ปานกลาง และมีอัตราการหายใจอยู่ที่ 2-4 ครั้งต่อ 5 นาที ซึ่งเป็นอัตราปกติของพะยูน และการสำรวจยังครอบคลุมถึงแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพะยูน จากการสุ่มตรวจสอบแปลงหญ้าทะเลในพื้นที่ พบหญ้าทะเลชนิดหญ้าใบมะกรูด (Halophila ovalis) กำลังมีดอก ออกผล และมีการแตกยอดอ่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารสำคัญของพะยูน
การพบฝูงพะยูนจำนวน 21 ตัว พร้อมกับความสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเลในครั้งนี้ นับเป็นสัญญาณที่ดี แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมที่ได้ผล ทางศูนย์ฯ จะยังคงดำเนินการสำรวจและติดตามสถานภาพของพะยูนและหญ้าทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการอนุรักษ์ต่อไป
การสำรวจครั้งนี้เป็นการยืนยันถึงความสำคัญของพื้นที่ทะเลตรัง โดยเฉพาะบริเวณเกาะลิบง ในฐานะที่เป็นแหล่งอาศัยสำคัญของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และตอกย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อปกป้องทรัพยากรอันมีค่านี้ให้คงอยู่สืบไป