ดาวน์ซินโดรม ค่าใช้จ่ายมากกว่าเลี้ยงเด็กปกติตั้งแต่เกิด 2.5 ล้านบาท กรมวิทย์ฯ ให้บริการ ตรวจ NIPT คัดกรองอาการดาวน์ แม่นยำ 99% เหมาจ่ายไม่เกิน 2,700 บาท ช่วยพ่อแม่มีโอกาสวางแผนครอบครัว
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กลุ่มอาการดาวน์ (Down Syndrome) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ในปี 2567 ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 460,000 คน และในหญิงตั้งครรภ์ 800-1,000 คน จะมีโอกาสพบเด็กอาการดาวน์ 1 คน
เด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมนอกจากมีลักษณะผิดปกติของรูปร่างหน้าตา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่น ความผิดปกติทางสติปัญญา ระบบหัวใจ โดยมีค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากการเลี้ยงดูเด็กปกติตั้งแต่เกิดประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อคน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้คือ การตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ซึ่งหากพบความผิดปกติจะได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่ได้มีโอกาสวางแผนครอบครัว และแนวทางการรักษาต่อไป
นพ.ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 8 ม.ค.68 เห็นชอบให้บริการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ด้วยวิธีไม่รุกล้ำ (NIPT) เป็นทางเลือกหลักสำหรับการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งวิธีการตรวจเดิม คือ Quadruple test พบว่ามีอัตราการเกิดผลบวกลวง ทำให้มีการเจาะน้ำคร่ำ เสี่ยงต่อการแท้ง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการตรวจด้วยวิธีที่มีความแม่นยำมากขึ้น จึงเห็นชอบการปรับอัตราจ่ายค่าบริการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ด้วยวิธี NIPT ในอัตราเหมาจ่ายรวมค่าเจาะเลือดและค่าส่งตรวจ เป็นไม่เกิน 2,700 บาท ต่อการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง โดยมอบ สปสช. ประสานกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ เพื่อให้การตรวจเป็นไปอย่างทั่วถึง และครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ทุกคนต่อไป
“ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข มีระบบการดูแลกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ตามชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. การใช้ผลตรวจ NIPT ทำให้ระบบการดูแลที่มีอยู่ดีขึ้น ซึ่งการพิจารณาเพื่อส่งตรวจ NIPT เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช เพื่อให้สามารถดูแลมารดาแบบครบวงจร โดยมีการให้คำปรึกษาหลังได้รับผลตรวจ NIPT และติดตามผลบวกลวงและผลลบลวงที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้ง NIPTเป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจ จึงต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ในการตรวจวิเคราะห์และแปลผล ห้องปฏิบัติการที่เปิดตรวจจึงต้องมีความพร้อมและได้รับรองตามมาตรฐานในกระบวนการตรวจวิเคราะห์ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ผลการตรวจที่ถูกต้องแม่นยำซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตของทารกที่จะเกิดมาเป็นอนาคตของประเทศ จึงไม่ควรใช้การแข่งขันเชิงธุรกิจมาเป็นประเด็นในการให้บริการ”