สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีต้อนรับเรือตัดน้ำแข็งเสว่หลง 2 เยือนประเทศไทย

View icon 987
วันที่ 20 พ.ค. 2568 | 19.53 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 09.36 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสโมสรกรมอู่ทหารเรือ ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในพิธีต้อนรับเรือตัดน้ำแข็งเสว่หลง 2 เยือนประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา 2 เมษายน 2568 และเฉลิมฉลองในวาระครบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ปี 2568

การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของเรือเสว่หลง 2 ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจสำรวจทวีปแอนตาร์กติกา และเดินทางกลับสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชน และการพัฒนาความร่วมมือในระยะยาว โดยความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ทอดพระเนตรภายในเรือเสว่หลง 2 ซึ่งเป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำที่ 4 ของจีน และถือเป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำแรกของจีนที่สร้างขึ้นเองทั้งหมด เป็นเรือตัดน้ำแข็งขนาดกลางที่มีความทันสมัย และมีสมรรถนะสูงที่สุดลำหนึ่งของโลก มีความยาว 122.5 เมตร กว้าง 22.3 เมตร กินน้ำลึก 12 เมตร สามารถรองรับลูกเรือได้ 40 คน และนักวิจัยอีก 50 คน

มีภารกิจหลัก คือ สนับสนุนการสำรวจวิจัยขั้วโลกในหลากหลายสาขา ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก, ธารน้ำแข็งวิทยา, วิทยาศาสตร์ทางทะเล, วิทยาศาสตร์บรรยากาศ, ธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์, นิเวศวิทยาและชีววิทยา รวมถึงการศึกษาสิ่งแวดล้อมทั้งในแผนระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการรับ-ส่งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งเสบียง อาหาร เชื้อเพลิง และอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับสถานีวิจัยของจีนทั้งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเรือสำรวจอัจฉริยะที่ทันสมัยที่สุดลำหนึ่งของโลก ด้วยการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดหลายชนิด ครอบคลุมการสำรวจที่หลากหลาย มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย สำหรับการประมวลผลข้อมูลทั้งด้านปฏิบัติการและการวิจัย ภายในมีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงห้องพัก โรงพยาบาล คลินิกรักษาพยาบาล ห้องสมุด และห้องปฏิบัติการ

การที่เรือตัดน้ำแข็งเสว่หลง 2 เยือนประเทศไทยครั้งนี้ สืบเนื่องจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้นักวิจัยไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ และจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสำนักบริหารกิจการทางทะเล ณ กรุงปักกิ่ง และสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้ ในปี 2556 ทำให้เกิดความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของไทย กับสำนักงานบริหารกิจการขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้จีน และสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน เพื่อสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขั้วโลกในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของไทย ได้ไปร่วมสำรวจศึกษาวิจัยในพื้นที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ กับคณะสำรวจของสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 17 คน

นอกจากนี้ ยังทำให้ประเทศไทยได้เข้าร่วมในเวทีความร่วมมือระดับภูมิภาค คือ การประชุมเรื่องวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์ในเอเชียให้มีบทบาทในเวทีขั้วโลกอย่างเข้มแข็ง ในระหว่างนี้จึงได้จัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งกิจกรรมวิชาการ และกิจกรรมสำหรับเยาวชน อาทิ นิทรรศการ “Xue Long 2 and See the Unseen in Polar Region” ระหว่างวันที่ 14-25 พฤษภาคม 2568 ที่สยามพารากอน เพื่อเปิดโลกวิทยาศาสตร์ขั้วโลกให้กว้างขึ้น ได้เห็นความสำคัญของการวิจัยขั้วโลกผ่านนักวิจัยไทย และเทคโนโลยีสำรวจที่ล้ำสมัยของจีน มุ่งหวังให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของขั้วโลกต่อระบบนิเวศและชีวิตประจำวัน รวมถึงกระตุ้นความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยไทย รวมถึงเยาวชน จะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์กับทีมวิจัยระดับแนวหน้าของจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสำรวจขั้วโลก โดยเรือตัดน้ำแข็งเสว่หลง 2 มีกำหนดจอดเทียบท่า ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จนถึงวันที่ 23 พฤษภาคมนี้

ข่าวอื่นในหมวด