รายงานพิเศษ : ใช้เศรษฐกิจพอเพียงรับมือปัญหาเศรษฐกิจ

View icon 108
วันที่ 17 ต.ค. 2560 | 16.31 น.
News
แชร์
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสแก่คนไทยมาตั้งแต่ปี 2517 และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ให้เป็นแนวทางแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ และการเงินในเอเชียที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 เพื่อให้ประเทศสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก

โดยเน้นการพอมีพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ก่อน เมื่อมีพื้นฐานที่มั่นคงแล้ว จึงค่อยสร้างความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจ อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นการกระจายรายได้ เพื่อสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ก่อนจะพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ได้น้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มาประมวลบรรจุไว้ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการเชิดชูจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นแนวทางที่ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อนานาประเทศทั่วโลก ที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ พัฒนาได้อย่างยั่งยืน

แม้ว่าจะผ่านไปแล้ว 20 ปี กับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง แต่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงยังสามารถใช้ได้ดี และเริ่มเห็นผลชัดเจน ไม่ได้เชยไปตามยุคสมัย เพราะเป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทาง เริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ไปจนถึงระดับรัฐ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ

โดยความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และต้องมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ที่พร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ รวมทั้งต้องมีความรอบรู้ รอบคอบ ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนดำเนินการทุกขั้นตอน ที่สำคัญต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติให้มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต

คนไทยจะต้องปรับตัวใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังมากขึ้น ต้องรู้จักพอประมาณ ไม่สร้างหนี้เกินตัว ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล และรู้จักออมให้ได้ 10 % ของรายได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเกิดปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือน รวมทั้งมีคุณธรรมที่ดี และความรู้ที่ทันสมัย ในการต่อยอดการเลี้ยงชีพ เพื่อเป็นแรงเสริมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง มั่นคง อย่างยั่งยืนในอนาคต