วานนี้ (22 ธ.ค.64) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ของอังกฤษเผยแพร่ภาพประกอบของตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่ขดตัวอยู่ในไข่พร้อมฟักตัว โดยเห็นลักษณะของหัว ขาและหางชัดเจน
นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า นี่เป็นสภาพตัวอ่อนของไดโนเสาร์ที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมันมีความยาวลำตัวจากหัวถึงหางประมาณ 27 เซนติเมตร อยู่ในไข่ความยาว 17 เซนติเมตร พร้อมตั้งชื่อว่า เบบี หยิงเหลียน ตามถิ่นที่พบในเมืองกว่างโจว ของจีน
ตัวอ่อนไดโนเสาร์ที่พบน่าจะเป็นไดโนเสาร์พันธุ์โอวิแรพตอโรซอร์ ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นจะมีลักษณะคล้ายนกยักษ์ในช่วงปลายยุคครีเทเชียส ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทวีปเอเชียและอเมริกาเหนือในปัจจุบัน ซึ่งสำหรับตัวอ่อนไดโนเสาร์นี้ น่าจะมีอายุอยู่ที่ราว 66-72 ล้านปี
การค้นพบตัวอ่อนไดโนเสาร์ครั้งนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่อาจบ่งชี้ว่า ไดโนเสาร์กลุ่มนี้อาจมีความเชื่อมโยงกับสัตว์จำพวกนกในยุคปัจจุบัน ส่วนสภาพของตัวอ่อนที่สมบูรณ์เป็นเพราะไข่นั้นถูกฝังอยู่ใต้โคลน ซึ่งช่วยให้มันไม่ถูกไดโนเสาร์กินซากตัวอื่นกินไป โดยนักวิทยาศาสตร์จะนำตัวอ่อนดังกล่าวไปศึกษาด้วยเทคโนโลยีสแกนเพื่อให้ได้รูปร่างจากกระโหลก และกระดูกส่วนอื่นๆ ต่อไป