หมอโรคสมอง ห่วงเด็กเล็กติดโควิด มีอาการทางสมอง พบบ่อยสุด คือ อาการชัก

หมอโรคสมอง ห่วงเด็กเล็กติดโควิด มีอาการทางสมอง พบบ่อยสุด คือ อาการชัก

View icon 647
วันที่ 3 ธ.ค. 2565 | 16.48 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หมอโรคสมอง ห่วงเด็กเล็กติดเชื้อ มีอาการทางสมอง พบบ่อยสุด คือ อาการชัก บางคนชักต่อเนื่องต้องใส่ท่อช่วยหายใจ โควิดกับอาการทางสมองในเด็กเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุผลได้ชัดเจน

โควิดระบาดขาขึ้น วันนี้ (3 ธ.ค.65) นพ.กุลเสฎฐ ศักดิ์พิชัยสกุล แพทย์เชี่ยวชาญ โรคระบบประสาทวิทยา โรคลมชัก กลุ่มงานกุมารเวชศาสตร์-งานประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงโควิดกับสมองเด็กเล็ก โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ไม่แน่ใจว่าทุกคนยังติดตามสถานการณ์โควิดมากน้อยเพียงใด เนื่องจากกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว ทุกอย่างเข้ามาสู่ภาวะปกติ แต่เชื่อว่าหลายๆคน รับรู้ได้ว่ามีการระบาดของโควิดรอบเล็กๆ ในหลายพื้นที่ และมีข่าวคนติดโควิดเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ

ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเด็กที่ป่วยเป็นโควิด และนอน รพ. มากขึ้น ทั้งรัฐบาลและเอกชน ส่วนตัวได้รับปรึกษาเด็กที่ติดเชื้อโควิดและมีอาการทางสมองทุกสัปดาห์ อาการที่พบบ่อยทีสุด คือ อาการชัก แต่ที่สำคัญ คือ ทุกคนเป็นเด็กเล็กน้อยกว่า 5 ขวบ ซึ่งรอบนี้ยังไม่พบในเด็กโต โดยผู้ป่วยเด็กอายุน้อยที่สุดที่พบ คือ 2 เดือน ที่มีอาการชักในวันแรกและวันที่ 4 ของการป่วย ส่วนอีกคน อายุ 1 ขวบ มีอาการชักต่อเนื่องจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทั้ง 2 คน ต้องได้รับการสแกนสมองเพื่อหาสาเหตุ พบว่าผลสแกนปกติ ถือว่าโชคดีที่ไม่รุนแรง

หลังตรวจประเมินหาสาเหตุของอาการชักแล้ว คาดว่าเกี่ยวข้องกับโควิด แต่ไม่ได้เป็นภาวะสมองอักเสบรุนแรงแตกต่างจากช่วง มี.ค.- เม.ย. 65 ในรอบนี้เด็กทุกคนฟื้นตัวและได้กลับบ้าน ในฐานะของหมอสมองเด็ก รู้สึกว่า โควิดกับอาการทางสมองในเด็ก ยังเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากอาการชักบางอย่างไม่สามารถสรุปสาเหตุลงได้ชัดเจน ยังคงตัองติดตามข้อมูลต่อไป

อาจาร์ยหมอกุลเสฎฐ ได้ให้คำแนะนำสำหรับแพทย์และกุมารแพทย์ ดังนี้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการชัก ขอให้ใช้ยาหยุดชัก คือ diazepam ไม่เกิน 2 ครั้ง เนื่องจากฤทธิ์คุมชักจะน้อยลงแต่มีผลข้างเคียงมากขี้น และขอให้เริ่มยากันชักที่ออกฤทธิ์คุมชักได้เร็วและนานให้เร็ว

คำแนะนำสำหรับประชาชน สำหรับเด็กเล็ก ขอแนะนำให้ไปฉีควัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีแดง ให้เร็วที่สุด ซึ่งวัคซีนในเด็กเล็กมีผลข้างเคียงน้อยมาก ในขณะที่เด็กน้อยกว่า 5 ขวบ เป็นกลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อจะเสี่ยงมีความรุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อนมากกว่าเด็กโต

หมายเหตุโพสนี้ เป็นเพียงข้อสังเกตส่วนบุคคลจากการปฏิบัติงานในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นความเห็นในฐานะองค์กรใดๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง