เทคโนโลยีเป็นทั้งคุณและโทษ โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน หากใช้อย่างเกิดประโยชน์ ก็ช่วยเพิ่มโอกาส พัฒนาศักยภาพ ทักษะการเรียนรู้ได้มาก อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีก็มีผลกระทบแง่ลบต่อเด็กหรือเยาวชนไม่น้อย วันนี้ #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จะนำภัยของโลกออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชนมาเล่าสู่กันฟัง
จากผลสำรวจของมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ถึงสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ในปี 2565 โดยสำรวจช่วง พ.ค. – ก.ค. 2565 ในเด็กและเยาวชนอายุ 9 – 18 ปี จำนวน 31,965 คน พบว่า
36% ของกลุ่มตัวอย่างมีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ โดยส่วนมากเป็นเด็กมัธยม ทั้งนี้พบว่าคนร้ายบ้างพยายามทำให้เด็กเชื่อว่าตกหลุมรัก ต้องการคบหาเป็นแฟน มีการขอภาพลับ นัดพบ ละเมิดทางเพศ รวมถึงถ่ายรูปข่มขู่แบล็คเมล
พฤติกรรมดังกล่าวจัดว่าเป็นพฤติกรรมเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Groom
ทั้งนี้หลายท่านอาจเห็นว่าภัยทางเพศดังกล่าว เกิดเฉพาะในเด็กมัธยมหรือเด็กมหาวิทยาลัย เพราะเริ่มโต เข้าสู่วัยสนใจเรื่องความรัก แต่จากงานสำรวจ พบข้อมูลน่าสนใจ และน่าตกใจว่า ภัยดังกล่าวเกิดแม้ในเด็กระดับประถมศึกษา
เช่น ในเด็กประถมศึกษาตอนปลายที่ช่วงอายุราว 10 ขวบ มีถึง 12% ที่ถูกเข้าหาในโลกออนไลน์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อล่วงละเมิดทางเพศ หลอกให้เชื่อว่ารัก ต้องการคบเป็นแฟน หรือถูกกรูม (Groom)
โดยผลสำรวจระบุว่า
• มากถึง 36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม
• มากถึง 54% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร
• มากถึง 60% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารซึ่งเป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก
• มากถึง 11% ถูกคุกคามทางเพศ เช่น โดนคอมเมนต์รูปร่างหน้าตา ขนาดหน้าอกหรืออวัยวะเพศ ถูกขอให้พูดคุยเรื่องเพศ รับ-ส่งภาพหน้าอกหรืออวัยวะเพศ
• มากถึง 15% เคยทำ sex video call
ไม่ใช่แค่ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น ผลสำรวจยังพบว่า 26% ของเด็กถูกรังแกทางออนไลน์ (Cyber Bullying) 11% เคยเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมายหรือเว็บไซต์อันตราย 7% เล่นพนันออนไลน์ และ 18% เคยนัดพบเพื่อนออนไลน์
สาเหตุสำคัญที่ภัยออนไลน์เติบโตมากขึ้น มีอย่างน้อย 2 ประการ
ประการแรก ผลจากการที่เด็กยุคนี้โตมาพร้อมเครื่องมือสื่อสารและอินเตอร์เน็ต ทั้งโทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ต แล็ปท๊อป คอมพิวเตอร์ ใช้เครื่องมือสื่อสารทั้งเพื่อเรียนหนังสือและสันทนาการ เปิดโอกาสให้เข้าถึงความเสี่ยงมากขี้น
ผลสำรวจพบว่า ปัจจุบัน 81% ของเด็กมีแท็ปเล็ตหรือสมาร์ทโฟนของตัวเอง 64% ของเด็กมีอินเทอร์เน็ตหรือไวไฟที่บ้าน 85% ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันหรือเกือบทุกวัน และ 75% เล่นเกมออนไลน์ เด็กทุกวัยใช้อินเทอร์เน็ตมาก โดย 28% ใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 3-5 ชั่วโมง 25% ใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 6-8 ชั่วโมง และ 23% ของเด็กใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าวันละ 10 ชั่วโมง
ประการที่สอง ภัยบนโลกออนไลน์มีความซับซ้อน แนบเนียนขึ้น ยากต่อการตรวจสอบ เช่น อยู่ในรูปแบบโฆษณาให้ลุ้น ซื้อกล่องสุ่มในเกม ซึ่งถือเป็นการพนันรูปแบบหนึ่ง ผลสำรวจพบว่ามีเด็กถึง 18% ที่จ่ายเงินซื้อกล่องสุ่มในเกม การพนันในรูปแบบนี้ยากต่อการรู้เท่าทันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ หลายคนไม่รู้สึกเป็นการพนันด้วยซ้ำ หรืออีกรูปแบบที่เด็กอาจไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังเสี่ยง เช่น ถูกชักชวนให้ลงทุนทางออนไลน์อย่างคริปโตเคอร์เรนซี ผลสำรวจพบว่า 5% ของเด็กเคยลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทั้งเด็ก ผู้ปกครอง ตลอดจนคุณครู ในการมีทักษะทางดิจิทัลที่เพียงพอเพื่อรู้เท่าทันภัยบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบการด้านดิจิทัล ควรมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาเหล่านี้ เช่นที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมอย่างเอไอเอส ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรมสุขภาพจิต สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทรวงมหาดไทยในการออกแบบหลักสูตรชื่ออุ่นใจไซเบอร์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านดิจิทัล มีการวัดระดับทักษะทางดิจิทัล เพื่อให้เด็กมีศักยภาพมากขึ้นในการป้องกันมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์
ภัยบนโลกออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชนนับวันมากและใกล้ตัวขึ้นเรื่อยๆ ประการสำคัญเกิดกับเด็กอายุน้อยลง จำเป็นที่ผู้ปกครองและครูต้องรู้เท่าทัน เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ