หมอยง แนะไทยตั้งรับโควิดสายพันธุ์ BQ ให้เข้าไทยช้าที่สุด ไม่ประมาทสายพันธุ์ใหม่จากจีน

หมอยง แนะไทยตั้งรับโควิดสายพันธุ์ BQ ให้เข้าไทยช้าที่สุด ไม่ประมาทสายพันธุ์ใหม่จากจีน

View icon 147
วันที่ 3 ม.ค. 2566 | 11.03 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หมอยง ร่ายยาวเปิดหรือปิดประเทศโควิดสายพันธุ์ใหม่เข้าไทยอยู่ดี ดังนั้น ต้องตั้งรับเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะการป้องกันสายพันธุ์ BQ ให้เข้าไทยช้าที่สุด อย่าประมาทสายพันธุ์ใหม่จากจีน อาจเกิดขึ้นได้

วันนี้ (3 ม.ค. 2566)  ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เกี่ยวกับ “โควิด-19 การรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ”  โดยระบุว่า

จากการศึกษา วิเคราะห์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่สายพันธุ์อังกฤษ หรือ อัลฟา สายพันธุ์เริ่มจากอังกฤษก่อนหลายเดือน ในปลายปี 2563 และถึงแม้ว่าเราปิดบ้านปิดเมือง มีการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศถึง 14 วัน ในที่สุด สายพันธุ์นี้ก็มาระบาดในบ้านเราในเดือนมีนาคม 2564 เช่นเดียวกันกับ สายพันธุ์เดลตา จุดเริ่มต้นที่อินเดีย แล้วไประบาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เข้าสู่ประเทศไทยหลังจากการระบาดในประเทศทางตะวันตก ขณะนั้นก็มีการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ

เช่นเดียวกัน สายพันธุ์โอไมครอน ก็เช่นเดียวกัน เราเกิดหลังประเทศทางตะวันตกทั้งนั้น ขณะนี้บ้านเราเป็นสายพันธุ์ BA.2.75 ในขณะที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว และขณะนี้ทางสหรัฐอเมริกาและตะวันตกมีแนวโน้มจะเข้าสู่สายพันธุ์ BQ.1, BQ.1.1 คาดว่า ต่อไปของเราก็คงระบาดตามมา สายพันธุ์ดังกล่าวจะดื้อต่อภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น

ขณะที่การระบาดในประเทศจีนขณะนี้ ยังเป็น BA.5 และลูกของ BA.5 คือ BF.7 ที่มีความคล้ายคลึงกับ BA.5 ที่เราได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว หรือ จีนตามหลังเรา คนไทยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจะมีภูมิต้านทานต่อตัวนี้แล้วเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ประเทศจีน โดยเฉพาะถ้ามีการระบาดในผู้ป่วยจำนวนมาก โอกาสจะเกิดสายพันธุ์ใหม่ก็จะเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักไว้ด้วย

จากเหตุผลตามสายพันธุ์ จะให้ตรวจหรือป้องกัน ขณะนี้เราควรป้องกันสายพันธุ์ BQ มากกว่า BA.5 ที่เราได้ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ประเทศต้นทางที่น่าจะตรวจ เพื่อป้องกันสายพันธุ์ใหม่ของเรา ควรจะเป็นสายพันธุ์ที่ไม่มีในประเทศไทย เพื่อป้องกันการระบาดในประเทศไทยให้ช้าที่สุด

อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ทั้งหมดก็ยังเป็น โอไมครอน ที่ความรุนแรงน้อยและทั่วโลกก็ยอมรับว่าสายพันธุ์นี้ยังระบาดอยู่ทั่วโลก