ปี 66 แนวโน้มรายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจของไทยลดลง

ปี 66 แนวโน้มรายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจของไทยลดลง

View icon 997
วันที่ 11 ม.ค. 2566 | 16.25 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ปี 66 แนวโน้มรายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทยรวมประมาณ 8.33 แสนล้านบาท  ลดลงร้อยละ 4.7 จากปีที่ผ่านมา

ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ในปี 2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทย รวมประมาณ 8.33 แสนล้านบาท  ลดลงร้อยละ 4.7 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยคาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 32.6 และร้อยละ 15.8 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลให้สินค้าคงทนชะลอตัวลงและราคาพืชที่ใช้ในอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง แนวโน้มราคาปาล์มน้ำมันปรับลดลง เนื่องจากผลกระทบของปรากฏการณ์ลานีญาจึงทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากในพื้นที่ชายฝั่งของประเทศผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ของโลก คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย นอกจากนี้ความต้องการยางพาราที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง ส่งผลทำให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงตามไปด้วย ประกอบกับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนมีความยืดเยื้อทำให้ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูง ทั้งเรื่องราคาปุ๋ยเคมี ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อีกทั้งทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวนที่ส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิของเกษตรกร ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรควรพิจารณาบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

สำหรับรายได้เกษตรกรจากอ้อย ข้าว และมันสำปะหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 18.4 ร้อยละ 7.7 และ ร้อยละ 5.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดโลก การเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับปกติ อีกทั้งหลายประเทศกังวลปัญหาความมั่นคงด้านอาหารมีมาตรการชะลอด้านการส่งออกสินค้าเกษตร จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกพืชเศรษฐกิจบางชนิดมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวเปลือก ในปีนี้คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัวร้อยละ 7.7 คิดเป็นรายได้รวมประมาณ 3.11 แสนล้านบาท ในขณะที่คาดว่ารายได้จากอ้อยมีแนวโน้มจะขยายตัวร้อยละ 18.4 คิดเป็นรายได้รวมประมาณ 1.2 แสนล้านบาท อันเป็นผลจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น ความต้องการสินค้าเกษตรที่ใช้ประกอบอาหารในตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมการค้าที่มากขึ้น รวมทั้งเป็นผลมาจากความร่วมมือการประกันราคาอ้อยของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ในส่วนของมันสำปะหลังคาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัวร้อยละ 5.4 รายได้รวมประมาณ 0.90 แสนล้านบาท เป็นไปตามความต้องการที่จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลังและเอทานอลมีมากขึ้น โดยเฉพาะความต้องการจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ จีน

“ความมั่นคงอาหารของไทย” จากรายงาน Global Food Security Index (GFSI) ที่จัดทำโดย  The Economist Intelligence Unit ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 51 ของโลกจากทั้งหมด 113 ประเทศ โดยความมั่นคงทางอาหารของไทยอยู่ในระดับเฉลี่ย 2 องค์ประกอบ คือ ประชาชนสามารถหาซื้ออาหารได้ง่าย และเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตอาหารค่อนข้างมีความยืดหยุ่น อย่างไรก็ตามพบว่าประเทศไทยยังมีประเด็นที่ต้องปรับปรุงในเรื่องความพร้อมและความพอเพียงด้านอาหารและคุณภาพและความปลอดภัย

เมื่อต้นปี 2565 คณะกรรมการอาหารแห่งชาติได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการ ด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2567) ซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการ ระยะเวลา 5 ปี ที่อ้างอิงตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2561 - 2580) ระยะ 20 ปี เป้าหมายหลัก คือ การสร้างความั่นคงทางอาหารของประเทศที่ยั่งยืน ประชาชนได้รับอาหารที่มีคุณภาพ และมีสุขภาวะที่ดีขึ้นจากการได้รับอาหารที่มีคุณภาพ เห็นได้ว่าภาครัฐให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทยในระยะยาว สำหรับการวางแผนด้านการผลิต  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้มีการจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (ข้อมูลรวบรวมสินค้าพืช 50 ชนิด ปศุสัตว์ 10 ชนิด และประมง 10 ชนิด) มีวัตถุประสงค์เพื่อจะช่วยในการคาดการณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรแบบรายชนิดสินค้า ที่จะออกสู่ตลาดเป็นรายเดือนตลอดปีจากแต่ละจังหวัด อำเภอและตำบล และจะคาดการณ์ปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัด

ต้องจับตาแนวโน้มปริมาณการผลิตและราคาของพืชเศรษฐกิจหลักไทย โดยเฉพาะพืชสำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีความเปราะบางและผันผวนสูง ควบคู่กับภาครัฐเร่งเตรียมนโยบายเพื่อรับมือประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง