บอร์ดกองสลาก ประกาศชัด ปี 2566 ตั้งเป้าดึงสลากฯ เข้าระบบดิจิทัลให้ได้ 30 ล้านฉบับ

บอร์ดกองสลาก ประกาศชัด ปี 2566 ตั้งเป้าดึงสลากฯ เข้าระบบดิจิทัลให้ได้ 30 ล้านฉบับ

View icon 1.2K
วันที่ 19 ม.ค. 2566 | 18.44 น.
ข่าวช่อง7HD
แชร์
บอร์ดกองสลาก ประกาศชัด ปี 2566 ตั้งเป้าดึงสลากฯ เข้าระบบดิจิทัลให้ได้ 30 ล้านฉบับ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสลากฯใบละ 80 บาท

เมื่อเวลา 16.50น. ของวันนี้ (19 ม.ค.66) ที่ห้องประชุมสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล แถลงข่าวแนวทางการแก้ไขปัญหาสลากฯเกินราคา โดยเริ่มที่สลากดิจิทัลในแอปฯเป๋าตัง ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล และทำตามกฏหมายทุกอย่าง  ลอตเตอรี่ในแอปฯเป๋งตังทุกใบ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ได้ขายเอง แต่เป็นของผู้ค้ารายย่อยขายเข้าระบบทั้งหมด โดยงวดล่าสุดมี 17 ล้านใบ ซึ่งถือว่ายังน้อยไป และมีผู้ค้ารายย่อยกว่า 30,000 คน ที่นำลอตเตอรี่มาขาย ซึ่งมีผู้ซื้อกว่า 1.8 ล้านคน โดยใช้ระยะเวลาในการขายประมาณ 10 วันหมด

หลังจากนี้ คาดว่าจะมีการทยอยเพิ่มลอตเตอรี่ในแอปฯเป๋าตัง โดยคณะกรรมการมองว่านับตั้งแต่วันนี้ จนถึงเดือนธันวาคม 2566 จะทยอยเพิ่มจำนวนลอตเตอรี่ให้ถึง 30 ล้านใบ เพราะน่าจะเป็นจำนวนที่เหมาะสม และในอีก 3 ปีข้างหน้า สลากฯครึ่งหนึ่งของทั้งหมด จะเข้าไปจำหน่ายในระบบดิจิทัล โดยการเพิ่มจำนวนสลากฯเข้าระบบในครั้งนี้ จะนำสลากฯมาจาก 4 ส่วน คือ
1.ส่วนที่ผู้ค้าถูกตัดสิทธิไปก่อนหน้านี้ และที่กำลังจะถูกตัดสิทธิ์ โดยเฉพาะผู้ค้าที่ทำผิดระเบียบนำสลากฯไปขายให้กับแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ ซึ่งส่วนนี้ทางกองสลากจะโอนมายังระบบดิจิทัล 
2.กลุ่มผู้ค้ารายย่อยที่ซื้อจอง หลังวันที่ 5 เมษายนนี้ ปกติ จะจองได้ 5 เล่ม จะได้แค่ 3 เล่ม แต่ถ้าผู้ค้ารู้สึกว่าได้น้อยไป หากสมัครใจมาอยู่ระบบดิจิทัลของกองสลากฯ จะได้สิทธิ 5 เล่ม เท่าเดิม
3.ใช้แนวทาง L6 เสนอกระทรวงการคลัง จัดทำสลากดิจิตอลเกินโดยไม่ต้องพิมพ์ ทำเป็นรูปเข้าระบบได้เลย 
4.เชิญชวนกลุ่มโควต้า จะต้องเริ่มเรียนรู้ปรับตัวมาอยู่ในระบบดิจิตอล  ให้ทยอยนำสลากเข้าระบบ

"ขายสุทธิ เกิน 80 โดยอ้างเป็นค่าสนับสนุน ค่าดำเนินการต่างถือเป็นการเลี่ยงบาลี ถือว่ามีความผิด และการขายช่วงสลาก เจ้าของโควต้าจะถูกตัดสิทธิการเป็นคู่ค้าของสำนักงานสลากทันที ไม่สามารถคืนสิทธิ์ได้"

ด้านพันโทหนุน ศันสนาคม ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เผยว่า การเข้าตรวจค้นกองสลากพลัส เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง เพราะมีการเข้าตรวจค้นทุกแพลตฟอร์ม เพื่อพิสูจน์ว่าทุกแพลตฟอร์มมีสลากของจริงหรือไม่ และจะมีการเรียกสลากฯจากทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งมีประมาณ 11 ล้านใบ ภายในวันที่ 20 ม.ค.นี้ เพื่อตรวจสอบที่มาที่ไปว่ามาจากโควตาของใครบ้าง หากพบว่าใครที่ได้โควตามีสลากในมือ แล้วเอามาขายต่อ ให้แพลตฟอร์มเอกชน และจะตัดสิทธิเจ้าของโควตาทันที ซึ่งจะตัดสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ อย่างมูลนิธิ องค์กรการกุศลต่างๆ หรือผู้ค้ารายย่อย ซึ่งถ้าสำนักงานสลากไม่ดำเนินการแบบนี้ ก็เท่ากับว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จากอดีตจนถึงปัจจุบันสำนักงานสลากฯ เป็นเพียงหน่วยงานเดียว ที่ได้รับการอนุญาตให้ขายสลากฯได้ เพราะฉะนั้นก็เท่ากับว่าทางแพลตฟอร์มอื่นๆ ทำผิดกฏหมาย

สำหรับสลากกินแบ่งรัฐบาล ถือว่าเป็นการพนันชนิดหนึ่ง ซึ่งความตั้งใจของรัฐบาลนั้น ไม่อยากให้ประชาชนติดการพนันมากขึ้น ลดละเลิก จึงไม่ให้สำนักงานสลาก ทำการโฆษณาเชิญชวน แต่ทุกวันนี้ทางแพลตฟอร์มออนไลน์เจ้าหนึ่ง ยังคงโฆษณาทางทีวีอย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้จะเห็นสำนักงานสลากเข้มข้น และจะเริ่มเห็นผู้ที่ทำผิด ถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

นายลวรณ เผยต่อว่า หลังจากที่มีการเริ่มขายสลากดิจิทัล มีคนโทรมาร้องเรียนเรื่องสลากขายเกินราคาลดน้อยลงไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปีที่แล้วมีการตัดสิทธิผู้ที่ได้รับโควตา และเอาไปขายให้แพลตฟอร์มเอกชน ประมาณ 1 หมื่น 2 พันคน และปีนี้มีคนกำลังจะโดนตัดสิทธิ ประมาณ 1 หมื่นคน ซึ่งเป็นสาเหตุเดียวกัน และปัจจุบันทางสำนักงานสลาก ได้ร่วมมือกับตำรวจในการปราบปราม การขายสลากเกินราคา  โดยจะถูกจับปรับครั้งละ 10,000 บาท และเป็นต่างกรรมต่างวาระ จะถูกปรับเป็นครั้งๆไป และไม่ต้องรอการแจ้งความ เพราะเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน และในอีก 2 ถึง 3 สัปดาห์ต่อจากนี้ไป หากตำรวจเห็นว่าใครขายสลากเกินราคา สามารถจับได้ทันที