สำรวจการเลิกจ้างครั้งใหญ่ของบริษัทเทคฯ ทั่วโลก

สำรวจการเลิกจ้างครั้งใหญ่ของบริษัทเทคฯ ทั่วโลก

View icon 81
วันที่ 25 ม.ค. 2566 | 15.24 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หลายคนคงได้ยินข่าว ว่าบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ทั่วโลกกำลังเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก วันนี้ #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จะรวบรวม นำมาเล่าให้ฟัง ว่าใครเลิกจ้างไปแล้วบ้าง จำนวนเท่าไหร่ และเพราะอะไร

อ้างอิงรายงานของ CBS ณ 20 ม.ค. 2566 เพียงแค่ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา บริษัทเทคฯ เลิกจ้างพนักงานไปแล้วเกือบ  50,000 ตำแหน่ง

ทั้งนี้หากนับตั้งแต่ปีที่แล้ว หรือปี 2565 มีบริษัทเทคฯ ที่ประกาศเลิกจ้างพนักงานแล้วดังนี้

· บริษัท Alphabet บริษัทแม่ของ Google ประกาศลดพนักงาน 12,000 ตำแหน่ง หรือประมาณ 6% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่ 186,000 คน

· บริษัท Amazon ประกาศลดพนักงาน 18,000 ตำแหน่ง โดยเริ่มปรับลดตั้งแต่ พ.ย.ที่แล้ว

· บริษัท Carvana บริษัทขายรถออนไลน์ ลดพนักงาน 2,500 ตำแหน่ง หรือราว 12% ของพนักงานทั้งหมด ตั้งแต่ พ.ค. 2565

· Coinbase ผู้ให้บริการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี่ ลดพนักงาน 950 ตำแหน่งหรือราว 20% ของพนักงานทั้งหมดในเดือน ม.ค. นี้ โดยเป็นการลดรอบที่ 2 หลังจากรอบแรกลดไปแล้ว 1,100 ตำแหน่งตั้งแต่ มิ.ย. ปีก่อน

· Lyft บริษัทให้บริการเรียกรถแท๊กซี่ ประกาศเมื่อ พ.ย. 2565 ปรับลดพนักงาน 700 ตำแหน่ง ประมาณ 13% ของพนักงานทั้งหมด

· Meta บริษัทแม่ของ Facebook ประกาศเมื่อ พ.ย. 2565 ลดพนักงาน 11,000 ตำแหน่งหรือราว 13% ของพนักงานทั้งหมด

· Microsoft ประกาศปรับลดพนักงาน 10,000 ตำแหน่ง หรือราว 5% ของพนักงานทั้งหมด ทั้งนี้ในช่วง ก.ค. 2563 - มิ.ย. 2565 หรือที่มีสถานการณ์การระบาดของโควิดรุนแรง Microsoft จ้างพนักงานเพิ่มจาก 163,000 คนเป็น 221,000 ทีเดียว

· Robinhood แอปพลิเคชั่นด้านการลงทุนประกาศเมื่อ ส.ค. 2565 ปรับลดพนักงาน 780 ตำแหน่งหรือราว 23% ของพนักงานทั้งหมด

· Salesforce ประกาศปรับลดพนักงานมากกว่า 7,350 คน หรือราว 10% ของพนักงานทั้งหมด

· Snap บริษัทแม่ของแอปพลิเคชั่น Snapchat ประกาศลดพนักงานราว 20%

· Stripe บริษัทด้านการชำระเงินประกาศลดพนักงาน 1,000 ตำแหน่ง หรือราว 14% ของพนักงานทั้งหมด

· Twitter ทั้งนี้นับจาก Elon Musk ซื้อกิจการ มีพนักงานราว 7,500 คนหรือกว่าครึ่งของทั้งหมดออกจากบริษัท มีทั้งที่ถูกเลิกจ้างและลาออกเอง

· Wayfair บริษัทด้านชอปปิ้งออนไลน์ประกาศลดพนักงาน 1,750 ตำแหน่ง หรือราว 10% ของพนักงานทั้งหมด

ทั้งนี้ การที่บริษัทเทคฯ จำนวนมากต้องเลิกจ้างพนักงานหรือลดขนาดลง มีสาเหตุอย่างน้อย 3 ข้อ

1. เศรษฐกิจถดถอย จากสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่ถดถอย ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย ทำให้ธุรกิจทุกประเภทรวมถึง ธุรกิจด้านเทคโนโลยีได้รับผลกระทบ เช่น เม็ดเงินโฆษณาลดลง มีจำนวนผู้สมัครใช้งานลดลง ทั้งนี้โดยเฉพาะธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่พึ่งพาลูกค้าผู้ใช้งานทั่วโลก การที่เศรษฐกิจโลกหดตัว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่เบาบางลง ทำให้ผู้บริโภคพึ่งพาช่องทางออนไลน์หรือเทคโนโลยีลดลง ทั้งการใช้ชีวิต การทำงาน หรือการพักผ่อน เช่น ประชุมออนไลน์ลดลง กลับไปประชุมที่ออฟฟิศเพิ่มขึ้น ชอปปิ้งออนไลน์ลดลง กล้าออกไปเดินห้างมากขึ้น ดูหนังหรือเล่นเกมออนไลน์ลดลง เพราะมีกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ความอันตรายของสถานการณ์โควิดที่เบาบางลง ทำให้ธุรกิจด้านเทคโนโลยีหดตัวไปด้วย

3. การเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและการแข่งขันสูงของธุรกิจด้านเทคโนโลยีตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกบริษัทขยายตัวสูง จนบางแห่งขยายตัวเกินจริง มีการแย่งตัวพนักงาน จ้างพนักงานมากเกินจริงทั้งในแง่จำนวนและราคาที่จ่าย ทำให้มีต้นทุนสูงเกินไป ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่โควิดระบาดหนัก อุตสาหกรรมเทคโนโลยีจ้างงานเพิ่มขึ้นสูงมาก เช่นที่ CEO ของ Alphabet ออกมายอมรับว่า ช่วงที่การระบาดรุนแรง บริษัทใน Silicon Valley จ้างงานเพิ่มขึ้นไวไป

อย่างไรก็ตาม ในการเลิกจ้างของบริษัทเทคฯ เหล่านี้ พบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก แม้บริษัทเทคฯ จะปรับลดการจ้างงานลงมาก แต่หากเทียบกับ 3 ปีที่แล้วก่อนมีโควิด บริษัทเทคฯ เหล่านี้ ณ วันนี้ยังเติบโตกว่า 3 ปีที่แล้วอยู่

ประการที่สอง ในทางหนึ่ง แม้บริษัทเทคฯ จะลดพนักงาน แต่บริษัทเทคฯ เกือบทุกแห่งยังคงประกาศรับสมัครหรือหาพนักงานในกลุ่มที่มีทักษะสูงอยู่ เรียกว่าถ้าเป็นคนเก่งแล้ว อุตสาหกรรมนี้ก็ยังต้องการตัว

ประการที่สาม พนักงานด้านเทคฯ ที่ถูกเลิกจ้าง เชื่อว่าจะหางานใหม่ได้ไม่ยาก เพราะสำหรับพนักงานที่มีทักษะเหล่านี้ อุตสาหกรรมอื่นๆ ยังคงต้องการตัวอยู่ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์

คำถามคือ บริษัทเทคฯ จะยังมีปรับลดพนักงานหรือเลิกจ้างเพิ่มอีกหรือไม่ ทั้งนี้จากการประเมิน #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด เชื่อว่า ตลอดปีนี้บริษัทเทคฯ มีแนวโน้มเลิกจ้างเพิ่มขึ้น ทั้งรายใหม่ที่ยังไม่ได้ปรับลด รวมถึงรายเก่าที่ปรับลดไปแล้ว และอาจต้องลดเพิ่มอีก เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยรวมตลอดทั้งปีนี้คาดว่าจะถดถอยต่อไป จากเงินเฟ้อที่สูง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังขึ้นดอกเบี้ยต่อ ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยตาม ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างเลี่ยงไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง