#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด รวบรวมประเด็นนโยบายพรรคการเมือง ที่กำลังเสนอการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของเครดิตบูโร
ประเด็นแรก คือ ข้อเสนอของพรรคการเมืองหนึ่งให้ยกเลิกแบล็กลิสต์โดยอ้างว่า เครดิตบูโรมีการทำแบล็กลิสต์ผู้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ตรงเวลา ไม่ได้ใช้ข้อมูลการชำระหนี้ที่ตรงเวลามาคิดคำนวณคะแนนเครดิต หรือที่เรียกว่า credit score และไม่ได้นำเอาหนี้อื่นนอกเหนือสินเชื่อมาประมวลผล
บริษัท เครดิตบูโรแห่งชาติ จำกัด หรือที่รู้จักกันในนามย่อว่า NCB ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมหนี้ของประชาชนภายในระบบการเงินไทย ถูกก่อตั้งขึ้นหลังมีวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เพื่อให้สถาบันการเงินรู้ภาระหนี้และพฤติกรรมการชำระหนี้ในอดีตของผู้ขอกู้ก่อนตัดสินใจให้สินเชื่อ และใช้ในการติดตามภาระหนี้ สภาพหนี้ และพฤติกรรมการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เกิดขึ้นนอกสถาบันการเงินของตน เพื่อให้มีการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังและสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงสินเชื่อได้ทันท่วงที สร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการเงินไทย
ทั้งนี้ เนื่องจากการปล่อยให้ลูกหนี้แต่ละคนมีภาระหนี้ภายในระบบการเงินไทยรวมมากกว่าความสามารถในการชำระหนี้ จะทำให้เกิดหนี้สูญที่สูงขึ้นในระบบ และก่อให้เกิดความเปราะบางของระบบการเงิน ดังที่เคยเห็นกันมาแล้วว่า ความล้มเหลวของสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว อาจจะนำไปสู่การตกงานของคนจำนวนมากและการขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของสถาบันการเงินอื่น จนเกิดปัญหาสภาพคล่องภายในระบบการเงิน ในที่สุดจะกระทบต่อผู้ฝากเงิน และเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมา
การตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อและบริหารจัดการสินเชื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ข้อมูลเครดิตจึงมีความสำคัญมาก
เครดิตบูโร จึงเป็นตัวกลางรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมหนี้ของแต่ละสถาบัน เพื่อประมวลผล และส่งข้อมูลเครดิตให้กับสถาบันการเงินสมาชิกเมื่อลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลให้ความยินยอม โดยข้อมูลที่ส่งให้ต้องเพียงพอให้สถาบันการเงินทำการประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ รวมถึงการจัดส่งคะแนนเครดิต หรือ credit score ที่มีการคำนวณมาจากข้อมูลพฤติกรรมหนี้ที่ได้รับจากสถาบันต่างๆ ที่เป็นสมาชิก และข้อมูลอื่นๆ ที่บริษัทเครดิตบูโร จำกัด สามารถเข้าถึงได้ โดยทางเครดิตบูโร ยืนยันว่าไม่มีการจัดทำรายชื่อแบล็กลิสต์
=====
ประเด็นถัดมา หลายคนรวมถึงพรรคการเมืองบางส่วนมีความเชื่อว่าระบบแบล็กลิสต์มีอยู่ ในมุมที่ว่าเครดิตบูโรประเมินสถานะลูกหนี้ด้วยข้อมูลพฤติกรรมหนี้ที่ไม่ดี โดยไม่ได้คำนึงถึงพฤติกรรมหนี้ที่ดีเป็นองค์ประกอบ ทำให้ผู้ที่เคยชำระหนี้ช้าในช่วงโควิดเสียประโยชน์ ไม่สามารถขอกู้ได้ จนต้องไปกู้นอกระบบ
ในความเป็นจริงแล้ว สถาบันการเงินไม่ได้ส่งข้อมูลการชำระหนี้และการเป็นหนี้ของลูกค้าที่มีการค้างชำระหนี้เท่านั้น แต่เป็นการส่งข้อมูลการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจริงตามหน้าที่ คุณจะจ่ายงวดตรงเวลาหรือไม่ตรง ไม่ครบ สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลของคุณให้ NCB ทุกเดือน ซึ่งการรายงานข้อมูลรูปแบบนี้ ทำกันอยู่ทั่วโลก
ในการคิดคะแนนเครดิต โดยทั่วไปมีการให้คะแนนตามพฤติกรรมซึ่งมีทั้งดีและไม่ดี ปัจจัยต่างๆ ที่ใช้ในการคำนวณไม่ได้มีแค่ 2 ค่า (ดีหรือไม่ดี) แต่เป็นค่าที่มีความหลากหลาย คะแนนเครดิตจึงมีค่าต่อเนื่องและหลากหลาย และเพื่อให้สามารถจำแนกระดับความเสี่ยงเหมือนเครดิตเรตติง ทั่วไป ได้แบ่งออกเป็น 8 เกรด (กลุ่มคะแนน)
สถาบันการเงิน มีวิธีการคำนวณคะแนนเครดิตที่หลากหลายแตกต่างกันไป มีการกำหนดเงื่อนไขการให้สินเชื่อที่พิจารณาจากหลายสิ่งหลายอย่าง นอกเหนือจากคะแนนเครดิต การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อมูลหรือคะแนนเครดิตที่ได้รับจากเครดิตบูโรเท่านั้น ส่วนจะจัดการกับผู้ได้รับผลกระทบโควิดอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของสถาบันการเงินซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกชนที่ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เช่น ผู้ฝากเงิน นักลงทุน เป็นต้น รัฐไม่มีอำนาจบังคับองค์กรเอกชนรับความเสี่ยงที่สูงเกินกว่าจะรับได้
======
ประเด็นที่ 3 เกี่ยวกับการเสนอแนวทางของพรรคการเมืองหนึ่งว่าจะให้สถาบันการเงินได้รับเพียงคะแนนเครดิตเท่านั้น เพื่อที่จะทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้นโดยไม่เห็นข้อมูลพฤติกรรมการชำระหนี้ในอดีต
ข้อเสนอนี้ค่อนข้างอันตราย เนื่องจากสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะไม่รู้ยอดหนี้คงค้างรวมทั้งหมดของผู้กู้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงินอื่น จึงไม่ทราบความเสี่ยงที่แท้จริง และจะไม่สามารถเตรียมตัวรับมือเมื่อลูกหนี้เริ่มไปค้างชำระที่สถาบันการเงินอื่น และสถาบันการเงินอาจจะกลายเป็นรายต่อไปที่ลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้ได้
ข้อเสนอเช่นนี้จะสร้างปัญหาที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ความไม่สมมาตรของข้อมูลระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้” ซึ่งจะทำให้เกิดความล้มเหลวของตลาดการเงิน นั่นคือ การที่ไม่มีใครยอมให้กู้ หรือปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยเฉลี่ย เพราะไม่รู้ว่าผู้กู้มีหนี้แล้วอยู่ในมือเท่าไหร่ มีพฤติกรรมการชำระหนี้อย่างไร
ก็เหมือนเวลาคุณซื้อรถคันหนึ่งจากเต็นท์รถมือสอง แล้วไม่รู้ว่ารถคันนั้นผ่านความโชกโชนมากน้อยแค่ไหน มีประวัติทำผิดกฏหมายหรือไม่ รู้แค่เกรดรถ ราคาที่คุณยอมจ่ายให้กับรถที่มีประวัติดีและรถที่มีประวัติแย่ก็จะเท่ากัน เพราะคุณแยกไม่ออก
ดอกเบี้ยเฉลี่ยนี้จะเป็นดอกเบี้ยแพงไปสำหรับคนที่มีพฤติกรรมหนี้ดี และถูกไปสำหรับคนที่เคยค้างหนี้ ทำให้คนมีความเสี่ยงต่ำไม่กู้ คนขอกู้มีแต่คนมีความเสี่ยงสูง ในที่สุดก็จะทำให้ดอกเบี้ยต้องปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ก็ไม่มีการปล่อยสินเชื่อ
======
ประเด็นสุดท้ายนี้ คือ พรรคการเมืองเสนอให้ลบพฤติกรรมผิดนัดชำระหนี้ในช่วงโควิดออกจากฐานข้อมูลหรือการคำนวณคะแนน
การลบประวัติจะทำให้ไม่สามารถระบุกลุ่มที่มีความเปราะบางและต้องการความช่วยเหลือ อาจทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม
โดยทั่วไป การจะปล่อยสินเชื่อให้คนที่เคยมีหนี้ค้างชำระหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงและการกำหนดระดับความเสี่ยงที่รับได้ของเหล่าสถาบันการเงิน ทางเศรษฐศาสตร์การเงินการธนาคาร เราเรียกว่า credit risk management แต่ละแห่งมีเกณฑ์และวิธีการพิจารณาลูกค้าของตัวเอง ไม่ได้ดูแต่ข้อมูลที่ได้รับจาก NCB และมีวิธีการจัดการคนที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดโควิดที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว
และที่สำคัญ โควิดอยู่กับเราไปอีกนาน หากลบประวัติครั้งนี้ แล้วเกิดการระบาดเป็นฤดูกาลทุกปี ต่อไปในอนาคต เราจะต้องรายงาน NCB หรือไม่ว่า เดือนนี้ติดโควิด ทำงานไม่ได้ รายได้ไม่มี เพื่อให้ลบประวัติออกไป