10 ประเทศที่เผชิญวิกฤตราคาอาหารแพงขึ้นสุดในโลก

10 ประเทศที่เผชิญวิกฤตราคาอาหารแพงขึ้นสุดในโลก

View icon 250
วันที่ 2 ก.พ. 2566 | 16.35 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สถานการณ์เงินเฟ้อหรือของแพงเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอาหารที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารทั่วโลกส่งผลกระทบต่อคนยากจนอย่างมีนัยสำคัญ วันนี้ #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จะเล่าให้ฟัง ว่าประเทศไหนในโลกที่ได้รับผลกระทบจากราคาอาหารแพงขึ้นมากสุด

ผลกระทบของอาหารแพง ทำให้จำนวนคนที่อดอยากเพิ่มขึ้น คนเข้าถึงอาหารได้ลดลงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ กระทบคุณภาพชีวิต การเจริญเติบโตในเด็กและเยาวชน ตลอดจนความมั่นคงทางอาหารของประเทศนั้นๆ

การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักได้แก่สงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรจำนวนมาก เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด ธัญญาหารต่างๆ สงครามทำให้การเพาะปลูกและการส่งออกสินค้าเกษตรเหล่านี้ลดลง มีการกีดกันการค้ามากขึ้น ส่งผลต่อราคาอาหาร

โดยผลกระทบต่อราคาอาหาร มิได้จำกัดแต่อาหารคนเท่านั้น แต่ยังอาหารสัตว์ด้วย ซึ่งสุดท้ายทำให้ราคาเนื้อสัตว์แพงขึ้น ส่งผลต่อราคาอาหารของพวกเราอีกที

สงครามยังส่งผลต่อต้นทุนอาหารในมิติอื่นๆ เช่น ราคาปุ๋ยและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการผลิตอาหารทั่วโลก

ทั้งนี้งานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF พบว่า
• ทุก 1% ของการเพาะปลูกโลกที่ลดลงส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้น 8.5%
• ทุก 1% ของราคาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้น 0.45%
• ทุก 1% ของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้น 0.2%

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาอาหารตลอดปีที่ผ่านมาแพงขึ้น เพราะทั้งภัยสงครามที่ทำให้พื้นที่เพาะปลูกในรัสเซีย ยูเครนลดลง ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด รวมถึงเป็นแหล่งส่งออกวัตถุดิบปุ๋ยและน้ำมันรายใหญ่ของโลก นอกจากภัยสงครามที่ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรจากประเทศคู่กรณีลดลง สงครามยังนำมาซึ่งการกีดกันการค้าระหว่างรัสเซียและประเทศอื่นๆ ที่สนับสนุนยูเครน สาเหตุประการสุดท้ายที่ซ้ำเติมปัญหาได้แก่ เมื่อสินค้าเกษตรหลายชนิดมีแนวโน้มขาดตลาด ประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรหลายรายจึงหันมาจำกัดหรือยกเลิกการส่งออก จึงยิ่งซ้ำเติมให้สินค้าเกษตรทั่วโลกขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น นี่ยังไม่นับสถานการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดภัยแล้ง กระทบการเพาะปลูก

ธนาคารโลกพึ่งเผยแพร่ผลสำรวจประเทศที่เผชิญวิกฤตราคาอาหารแพงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนอดอยากมากขึ้น และประเทศกำลังเผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับวิกฤต โดย 10 ประเทศที่ราคาอาหารแพงขึ้นสูงสุดในช่วง 1 ปี มีดัชนีเงินเฟ้ออาหาร (Nominal Food Inflation) ดังนี้

1. ซิมบับเว เพิ่มขึ้น 376%
2. เลบานอน เพิ่มขึ้น 171%
3. เวเนซุเอลา เพิ่มขึ้น 158%
4. อาร์เจนตินา เพิ่มขึ้น 94%
5. ตุรกี เพิ่มขึ้น 77%
6. ศรีลังกา เพิ่มขึ้น 64%
7. รวันดา เพิ่มขึ้น 59%
8. กานา เพิ่มขึ้น 55%
9. ซูรินาม เพิ่มขึ้น 55%
10. เฮติ เพิ่มขึ้น 53%

หมายเหตุ ใช้ข้อมูลราคาอาหารล่าสุดระหว่างเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2022

ทั้งนี้จะเห็นว่า หลายประเทศประสบปัญหาราคาอาหารเข้าขั้นวิกฤต อาหารราคาแพงขึ้น 2-3 เท่า กระทบต่อคนยากจนในประเทศนั้นๆ อย่างรุนแรง

คำถามคือ สถานการณ์ราคาอาหารแพงจะจบลงเมื่อใด คำตอบหลักคือสงคราม เมื่อไรที่สงครามยุติและทุกประเทศกลับมาเพาะปลูกได้ดังเดิม ส่งออกสินค้าเกษตรรวมถึงปุ๋ยและน้ำมันเท่าเดิม สถานการณ์ราคาอาหารคงคลี่คลายขึ้น

ทั้งนี้ในระยะสั้น หากอยากชะลอปัญหาให้ราคาอาหารไม่แพงขึ้นเร็วเกินไปนัก รัฐบาลต้องสกัดเงินเฟ้อหรือชะลอเศรษฐกิจลงให้ได้ เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นคือตัวผลักให้ราคาอาหารแพงขึ้นไปด้วย งานวิจัยจาก IMF พบว่า ทุก 1% ของอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ช่วยลดราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารได้ถึง 13% ในไตรมาสถัดไป นอกจากนี้การมีมาตรการพุ่งเป้าเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้มีรายได้น้อย ก็มีความสำคัญ

ทั้งหมดนี้คือวิกฤตราคาอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน และ #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด นำมาเล่าให้ฟัง

สิ่งที่ควรตระหนัก ได้แก่ อนาคตปัญหาราคาอาหารเสี่ยงทวีความรุนแรงและเกิดบ่อยขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โลกร้อนกำลังกระทบพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่เลี้ยงสัตว์ อย่างมีนัยสำคัญ นี่คือสิ่งที่คนทั่วโลก รวมถึงคนไทย ต้องให้ความสำคัญและวางแผนรับมือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง