มหาทานบารมี ประเพณีแห่บุญผะเหวด โปรยทานด้วยธนบัตร

มหาทานบารมี ประเพณีแห่บุญผะเหวด โปรยทานด้วยธนบัตร

View icon 1.2K
วันที่ 14 ก.พ. 2566 | 09.32 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
อีสานจัดงานบุญท้องถิ่น ยิ่งใหญ่ตระการตา มหาทานบารมี ประเพณีแห่บุญผะเหวด โปรยทานด้วยธนบัตร มีประชาชนร่วมงานคับคั่ง ขบวนกลองยาวพร้อมนางรำกว่า 3 คณะ

วันนี้ (14 ก.พ.66)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 ก.พ.66) ที่วัดพุทธวนาราม (วัดป่าวังน้ำเย็น) ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ได้จัดงานมหากุศล “มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวด” มีขบวนแห่บุญผะเหวดเข้าเมือง ประกอบด้วย ขบวนแห่อัญเชิญพระมหาอุปคุต พิธีเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง ขบวนบุญผะเหวดโบราณ เทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน ตักบาตรข้าวพันก้อน ฟังเทศน์สังกาส ฟังเทศน์ผะเหวดแหล่อีสาน 4 ธรรมมาสน์ 13 กัณฑ์ 1,000 พระคาถาในวันเดียว และแห่กัณฑ์หลอน ขบวนกลองยาวพร้อมนางรำกว่า 3 คณะ โดยมีประชาชนร่วมงานจำนวนมาก เนื่องจากวันที่ 13 ก.พ.66 ก็เป็นวันคล้ายวันเกิดของพระครูภาวนาชยานุสิฐ (พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปัญโญ) เจริญมงคลอายุ 44 ปี ประธานสงฆ์วัดพุทธวนาราม (วัดป่าวังน้ำเย็น) ซึ่งได้นั่งในขบวนแห่ด้วย โดยในช่วงขบวนแห่จะเข้าวัดได้มีการโปรยทานเป็นธนบัตรให้กับประชาชน

สำหรับการจัดงานบุญผะเหวด จะนิยมจัดในช่วงเดือน 3-4 หรือราวเดือนก.พ.-มี.ค. ใช้เวลาในการจัดงานราว 3 วัน หมู่บ้านหรือชุมชนใดจะจัดงานบุญนี้ก็จะมีการบอกกล่าวพี่น้อง หรือหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาช่วยและร่วมบุญกัน ทำให้เกิดสายสัมพันธ์และความสามัคคีกัน บุญผะเหวด บุญพระเวส หรือบุญมหาชาติ บุญประจำเดือนสี่ตามฮีตสิบสองที่ชาวอีสานยังสืบสานเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่น ซึ่งในภาษาอีสานจะออกเสียง “พระเวส” เป็น “ผะเหวด” จึงเป็นชื่อเรียกบุญนี้ว่า “บุญผะเหวด” บ้างก็เรียก “บุญมหาชาติ” มีความเกี่ยวข้องกับชาดกเรื่อง พระมหาเวสสันดรชาดกที่แสดงบารมี 10 ประการในชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าที่ทรงเพียรบำเพ็ญเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ส่วนวัดพุทธวนาราม หรือวัดป่าวังน้ำเย็น ถือเป็นอันซีน (Unseen) ของจังหวัดมหาสารคามมีพื้นที่ 30 ไร่ จุดเด่นที่พลาดไม่ได้ ก็คือ เจดีย์ศรีมหาสารคามสีทองงดงาม มองเห็นสวยเด่นแต่ไกล ภายในเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้านในบรรจุพระพุทธรูปทองคำรวมถึงพระพุทธรูปปางต่างๆ และพระเครื่องจำนวนมากกว่า 84,000 องค์ ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องที่สร้างจากทองคำบริสุทธิ์ 3 องค์ น้ำหนักกว่า 12 กิโลกรัมรวมถึงศาลาการเปรียญไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศซึ่งใช้เสาไม้ถึง 112 ต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง