#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในไทยในปี 2565 รวม 7.3 พันคัน เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลพวงจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ภาครัฐสนับสนุนด้านลดหย่อนภาษีและสิทธิประโยชน์ผู้ขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มปรับเปลี่ยนตามกระแสลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศยานยนต์ สถาบันยานยนต์ พบว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใน ปี 2562 จดทะเบียนจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพียง 788 คัน อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ยอดจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 เท่าต่อปี โดยในปี 2565 มียอดจดทะเบียนใหม่เท่ากับ 7.3 พันคัน
ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยที่สำคัญประกอบกับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ ในส่วนประเภทรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท ด้วยการสมทบเงินอุดหนุน 18,000 บาท/คัน และสิทธิประโยชน์จากภาษีสรรพสามิต อัตราภาษี ร้อยละ 1 ปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคสนใจใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
“ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9” ดัชนีชี้วัดความพร้อมด้านการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั่วโลก (Global Electric Mobility Readiness Index-GEMRIX) ปี 2022 ชี้ว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 9 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเกิดใหม่ (Emerging EV Markets) ประเทศในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้ ในปี 2022 นอร์เวย์ เป็นประเทศที่มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากที่สุด หรือนัยหนึ่งถือเป็นต้นแบบด้านการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รองลงมา คือ จีน เยอรมนี และสิงคโปร์ ตามลำดับ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศใกล้ถึงเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก
“แนวโน้มพฤติกรรมคนไทยปรับตัวใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าเร็วกว่ายานยนต์ไฟฟ้าประเภทอื่น” ตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าน่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจาก อาร์เธอร์ ดี. ลิตเติล (ADL) บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลก คาดว่าอัตราการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 763,000 คัน และยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นรวม 831,161 คัน ภายในปี 2573 สำหรับในปี 2566 ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ประเมินแนวโน้มยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า อยู่ที่ประมาณ 25,000-35,000 คัน
การคาดการณ์จำนวนผู้ใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจากกลุ่มไรเดอร์ส่งของหรือกลุ่มโลจิสติกส์และขนส่งสินค้า เป็นต้น อีกทั้งจำนวนผู้ใช้ในแบบตามบ้านเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่มองว่ายานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถเพื่อขนส่งโลจิสติกส์ต้องใช้เวลาในการปรับตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ผู้ประกอบการยังคงมีความจำเป็นที่ต้องขนส่งสินค้าระยะไกลด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถกระบะ รวมทั้งรถบัสที่ใช้เดินทางข้ามจังหวัดยังคงต้องใช้น้ำมันเขื้อเพลิงเป็นหลัก
ทั้งนี้ขอยกตัวอย่างประเด็นที่ผู้บริโภคมีความกังวลที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น เรื่องจำนวนและที่ตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 สถานีชาร์จไฟฟ้ามีประมาณ 900 แห่งทั่วประเทศ จากหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น MEA EV สถานีชาร์จไฟของการไฟฟ้านครหลวง PEA VOLTA ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค Elex by EGAT ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย EV Station PluZ เป็นสถานี EV Charging ที่ บริษัท ปตท. จำกัด เป็นต้น อย่างไรก็ตามพบว่าโดยประมาณร้อยละ 60 อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล อย่างไรก็ตามอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้าและบ้านเรือนมีแนวโน้มติดสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต ประเด็นที่ต้องคำนึงอีกเรื่อง คือ ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต้องวางแผนเรื่องระยะทาง ผู้ใช้ควรมีข้อมูลเตรียมพร้อมในการหาที่ตั้งที่ใกล้ที่สุดหากผู้ใช้ต้องการชาร์จไฟฟ้าขณะสัญจรบนท้องถนนหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน การประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนทำความเข้าใจเรื่องการจองรอคิวชาร์จไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์หรือแอปพลิเคชัน และระยะเวลาในการชาร์จไฟฟ้า ที่ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ดังนั้นบริเวณสถานีชาร์จไฟฟ้าควรมีพื้นที่และกิจกรรมบริการระหว่างรอแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ผู้ใช้ยังคำนึงเรื่องอุปสรรคการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเมื่อกรณีน้ำท่วมถนนสัญจรลำบากทั้งในเขตเมืองและต่างจังหวัด เป็นต้น
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด มองว่าแนวทางสำคัญที่จะสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามเป้าที่กำหนดไว้นั้น ในแต่ละจังหวัดต้องมีระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเชื่อมโยงเป็นครบวงจร แต่ละจุดต้องมีโหมดของรูปแบบการคมนาคมขนส่งที่หลากหลายและเหมาะสมกับพฤติกรรมผู้โดยสารในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง ราคาค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะต้องสมเหตุผลและสอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน อีกทั้งความพร้อมของระบบรางคู่ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งและเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทรนด์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไปตามกระแสทั่วโลกที่ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง