กระแส “ความเป็นเมือง” หรือ Urbanization คืออะไร ทำไมถึงถูกพูดว่าเป็นหนึ่งในเทรนด์หลักของโลก ภาคธุรกิจจะใช้ประโยชน์จากกระแสนี้ได้อย่างไร #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จะเล่าให้ฟัง
“ความเป็นเมือง” (Urbanization) หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนถ่ายจากชนบทสู่เมือง วัดได้จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่เมือง ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 ปริมาณเศรษฐกิจโลกกว่า 61% จะมาจากกิจกรรมในเมืองใหญ่ 750 เมือง ซึ่งคิดเป็น 22% ของจำนวนเมืองในโลก
กระแส Urbanization เป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้ประชากรหลั่งไหลสู่เมืองเพิ่มขึ้น โดย PWC ประเมินว่าในอีก 25 ปีข้างหน้า หรือปี 2050 สัดส่วนประชากรโลกที่อาศัยในเมืองจะอยู่ที่ 72% เพิ่มจาก 50% ในปัจจุบัน
ผู้คนย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่ด้วยสาเหตุอย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่
· การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมือง และโอกาสในหน้าที่การงาน การอยู่เมืองมีโอกาสได้งาน ได้รายได้ที่ดีกว่า มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานสูงกว่า ดูแลครอบครัวได้ดีกว่า
· ฐานการลงทุนหรือที่ตั้งของบริษัทข้ามชาติ เมืองเป็นที่ตั้งของบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติย่อมเลือกตั้งในเมืองมากกว่า เพราะสะดวกในการติดต่อสื่อสาร ค้าขาย ชนส่ง รวมถึงหาพนักงานสะดวก
· ความสะดวกและทันสมัยของเมือง ความสะดวกจากโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมที่รัฐลงทุนขยายโครงข่าย รถไฟใต้ดิน รถไฟฟ้า ตลอดจนความสะดวกจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น อินเตอร์เน็ตไวไฟ ตลอดจนการเติบโตของธุรกิจสมัยใหม่ที่เน้นเทคโนโลยี เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างส่งอาหาร ส่งสินค้า รถสาธารณะ
· การเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลาง การที่คนมีรายได้มากขึ้น ต้องการอยู่สบายขึ้น มีโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น จึงมุมสู่เมืองหลวง
· การขยายตัวของเมืองขนาดกลางใหม่ๆ ปัจจุบันมีเมืองขนาดกลางเพิ่มขึ้น เมืองเล็กๆ หลายเมืองได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวและการพัฒนาของรัฐ เช่น นโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ช่วยให้เมืองเศรษฐกิจใหม่ๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ โดยเฉพาะจากเหตุผลด้านเทคโนโลยี ในอนาคตกระแส Urbanization จะยิ่งเติบโตมาก เร็ว และแรงขึ้น เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ จะยิ่งทำให้เมืองในอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เศรษฐกิจโตไวขึ้น จูงใจให้คนย้ายสู่เมืองเพิ่มขึ้น
กระแส Urbanization ก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายประการ เช่น ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว ช่วยให้คนกินดีอยู่ดี ฐานะดีขึ้น เป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจขยายการลงทุน เกิดการจ้างงานใหม่ๆ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เรียกว่าถ้าสามารถทำให้เกิดกระแส Urbanization มากๆ ประเทศสามารถมีเมืองใหญ่หรือเมืองขนาดกลางที่รายได้สูงเพิ่มขึ้นเยอะๆ ก็ช่วยให้เกิดหัวจักรทางเศรษฐกิจใหม่ๆ แก่ประเทศมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดปริมาณคนที่ย้ายออกจากชนบทเข้าสู่เมือง ต้องจากบ้าน จากครอบครัวด้วย
อย่างไรก็ตาม ในทางตรงข้าม กระแส Urbanization ก่อปัญหาหลายอย่าง เช่น สร้างปัญหาเมืองแออัด ทรัพยากรไม่เพียงพอ ทำให้รถติด เกิดมลพิษ เช่น มลพิษอากาศอย่างฝุ่น PM2.5 ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพ ที่ค่าครองชีพในเมืองใหญ่มักแพง ทำให้คนที่อาศัยในเมือง ทั้งที่อยู่แต่เดิมและย้ายมาอยู่ใหม่ ถ้าไม่สามารถรักษาระดับรายได้ให้เพิ่มขึ้นทันค่าครองชีพ ทำงานได้เงินเดือนมากขึ้นเพียงพอค่าใช้จ่าย คุณภาพชีวิตก็เสี่ยงเสื่อมถอยลง ตัวอย่างค่าครองชีพที่แพง เช่น ราคาที่ดินกลางเมือง ค่าคอนโดมิเนียมกลางเมืองที่แพง หรือแม้ไม่ซื้อ จะใช้วิธีเช่า ค่าเช่าที่พักกลางเมืองก็แพงเช่นกัน ผลักให้คนรายได้น้อยต้องไปอาศัยชานเมือง เสียเวลาในการเดินทางแต่ละวันเพื่อไปทำงานนาน กระทบคุณภาพชีวิต
นอกจากนี้ กระแส Urbanization ยังสร้างหรือเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนเมือง คนชนบทให้สูงขึ้นด้วย รวมถึงทำให้ชนบทร้างผู้คนหรือมีแต่คนแก่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระแสเมืองที่เติบโตขึ้น และนับวันคนจะย้ายมาอยู่เมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นโอกาสำคัญของภาคธุรกิจและผู้ประกอบการในการเตรียมตัวเพื่อคว้าโอกาส ทั้งนี้เชื่อว่า มีธุรกิจหลายกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากกระแส Urbanization นี้ อาทิ
· ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย ..เนื่องจากประชากรที่มากขึ้น และความจำกัดของที่พักอาศัยในเมืองที่มีอยู่ อย่างไรอุปสงค์ความต้องการที่พักก็เพิ่มขึ้น ไม่ว่าในรูปซื้อขาดหรือให้เช่า ดังนั้นใครมีที่หรือมีอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์สามารถปรับมาเพื่อสร้างรายได้ได้
· ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพักผ่อนหย่อนใจคนเมือง ทั้งกีฬา ธรรมชาติ สวนสาธารณะ ..เนื่องจากชีวิตแต่ละวันอยู่แต่ในตึก ที่พักก็อาจคับแคบไม่มีพื้นที่สีเขียวมากนัก สถานที่พักผ่อนหย่อนใจในปัจจุบันก็มีแต่ห้างสรรพสินค้า ปัจจุบันคนที่อยู่เมืองจึงหันไปอยากได้ที่พักผ่อนที่ออกจากตึก มีโอกาสได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้ออกกำลังกาย
· ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ..เมื่อคนอยู่เมืองมีรายได้มากขึ้น แต่แลกมาด้วยการทำงานหนักและชีวิตที่เร่งรีบ เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องการการดูแลตัวเอง ธุรกิจบริการด้านสุขภาพจึงเหมาะกับคนในเมือง โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพเฉพาะบางด้านที่คนอยู่เมืองมักประสบ เช่น โรคออฟฟิศซินโดรม หรือปัญหาสุขภาพจิต เป็นต้น
· ธุรกิจขนส่ง เดินทาง ..จากประชากรที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจที่มากขึ้น และการค้าออนไลน์ที่เพิ่ม ความต้องการด้านขนส่งและเดินทางในเมืองจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
· ธุรกิจแฟชัน ไลฟสไตล์ ..จากรายได้ของคนเมืองที่เพิ่มขึ้น และกระแสโซเชียลเน็ตเวิร์ก ความต้องการสินค้าด้านแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องประดับ จึงเพิ่มขึ้นไปด้วย
· นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจเฉพาะกลุ่มด้านอื่นๆ ที่ได้รับโอกาสจากกระแส Urbanization เช่น ธุรกิจรองรับแรงงานต่างด้าว เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจในเมืองเติบโต ย่อมมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานมากขึ้น ธุรกิจรองรับคนโสด เพราะปัจจุบันคนเป็นโสดมากขึ้น กลุ่มนี้น่าสนใจด้วย เพราะมีกำลังใช้จ่ายสูงเนื่องจากไม่มีภาระทางครอบครัว เงินที่หามาสามารถใช้ซื้อความสุขให้ตัวเองได้เต็มที่ ธุรกิจรองรับสัตว์เลี้ยง เนื่องจากคนเมืองไม่มีครอบครัว แต่หันไปเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยดูแลดี ยอมจ่ายแพงเพื่อซื้อสินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้พวกธุรกิจที่มีลักษณะแฟรนไชส์ก็มีแนวโน้มเติบโตดี ได้ประโยชน์สูง เพราะขยายธุรกิจง่าย รองรับผู้บริโภคที่มีความคล้ายคลึงกัน
ตัวอย่างผู้ประกอบการที่ปรับตัวและใช้ประโยชน์จากกระแส Urbanization เช่น รายงานของ The Guardian ระบุว่า Broad Group ธุรกิจรายใหญ่ของจีนด้านก่อสร้างและพลังงาน รวมถึงเป็นเจ้าของธุรกิจหลากหลายประเภท ได้ออกแบบนวัตกรรม “Green Building” โดยเน้นสร้างอาคารที่ปลอดภัยขึ้น เสร็จไวขึ้น ประหยัดพลังงานขึ้น ลดการสูญเสียทรัพยากรลง โดยตัวอาคารยังสามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 99% และทนต่อแผ่นดินไหวสูง
กระแส Urbanization เป็นกระแสที่เกิดขึ้นจริง และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบการไทยต้องเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์จากมัน