สธ.รับมอบวัคซีนไฟเซอร์ รุ่น 2 จากเกาหลีใต้ จำนวน  5 แสนโดส คาดกระจายได้ทั่วประเทศสิ้นเดือน ก.พ.นี้

สธ.รับมอบวัคซีนไฟเซอร์ รุ่น 2 จากเกาหลีใต้ จำนวน 5 แสนโดส คาดกระจายได้ทั่วประเทศสิ้นเดือน ก.พ.นี้

View icon 191
วันที่ 20 ก.พ. 2566 | 16.28 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สธ.รับมอบวัคซีนไบวาเลนท์ ซึ่งเป็นวัคซีนไฟเซอร์ รุ่น 2 จากเกาหลีใต้ จำนวน  5 แสนโดส เน้นใช้เป็นเข็มกระตุ้น คาดกระจายได้ทั่วประเทศสิ้นเดือน ก.พ.นี้

วันนี้ (20 ก.พ.66) นายมุน ซึง-ฮย็อน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย เป็นตัวแทนมอบวัคซีนโควิด-19 รุ่น 2 หรือไบวาเลนท์ ซึ่งเป็นวัคซีนไฟเซอร์ รุ่น 2 จำนวน 501,120 โดส จากรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีให้แก่รัฐบาลไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้รับมอบ

นายอนุทิน กล่าวว่า นับตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด ทางรัฐบาลเกาหลีใต้ให้การสนับสนุนเรื่องต่างๆ กับทางประเทศไทยตลอดเวลา และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่เกาหลีใต้บริจาควัคซีนให้ประเทศไทย โดยครั้งแรกบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 470,000 โดส ซึ่งวัคซีนโควิดล็อตนี้จะจัดส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ เมื่อผ่านการตรวจสอบแล้วก็จะกระจายลงยังพื้นที่ต่างๆ ตามขั้นตอนต่อไป คาดว่าจะมีการจัดส่งวัคซีนประมาณสิ้นเดือน ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้จะมีการบริจาควัคซีนจากหลายๆ ประเทศ แต่ต้องรอการรับทราบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)  ซึ่งจะมีการประกาศต่อไป

“วัคซีนทุกล็อตที่เข้ามาต้องผ่านการตรวจสอบก่อน ไม่ใช่ไปฉีดได้เลย เมื่อผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วก็จะกระจายต่อไป โดยวัคซีนรุ่น 2 เน้นบูสเตอร์โดส และใช้หลักการเดิมว่า หากฉีดเข็ม 3 แล้วเป็นเวลา 3 เดือนก็ฉีดเข็ม 4 และหากฉีดเข็ม 4 ไปประมาณ 4 เดือนก็ค่อยฉีดเข็ม 5 หากต้องการฉีดกระตุ้นเข็ม 6 อีกก็เว้นไว้ประมาณ 3-4 เดือนก็ค่อยฉีดกระตุ้นต่อไป ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อสอบถามทางหน่วยบริการของสธ.ได้” นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวมุ่งใช้เป็นเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไฟเซอร์ตั้งแต่ 2 เข็มขึ้นไป จากการวิจัยสามารถลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้ ร้อยละ 30-50 เรื่องของความปลอดภัยมีความปลอดภัยสูงมาก สามารถใช้ได้ทั้งรุ่น 1 และ 2 เป็นเข็มกระตุ้นได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในสหรัฐยังมีการต่อต้านการใช้วัคซีน mRNA มองเรื่องนี้อย่างไร เพราะคนไทยบางส่วนอาจกังวลความปลอดภัย และนักวิชาการบางส่วนบอกว่า วัคซีนไม่ควรฉีดเยอะ นายอนุทิน กล่าวว่า คำว่าไม่ควรฉีดเยอะ ไม่ได้หมายถึงมาฉีดทุกเดือน ต้องดำเนินการตามคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประเทศไทยทำมากกว่าประเทศอื่นๆ เยอะ ในเรื่องผลการศึกษาการฉีดวัคซีน คงเปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้ เราต้องดูผลลัพธ์ อย่างอัตราการติดเชื้อลดลง อัตราการเจ็บป่วยจนเข้าไอซียู อาการหนักๆ ก็ลดต่ำลง ส่วนคนที่ป่วยหนักจากการติดตามก็จะพบว่า มีโรคประจำตัวอื่นๆ และไม่ได้รับวัคซีนจนครบตามที่แนะนำไว้ ซึ่งคนที่ได้รับวัคซีนมากกว่า 4 เข็มขึ้นไป แทบไม่พบการเสียชีวิตจากโควิด เว้นแต่เสียชีวิตจากเรื่องอื่นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง