รองโฆษก อสส. เผย วางใจได้ ว่าที่ ออส. ตรวจคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีดัง

รองโฆษก อสส. เผย วางใจได้ ว่าที่ ออส. ตรวจคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีดัง

View icon 142
วันที่ 2 มี.ค. 2566 | 16.41 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วางใจได้! รองโฆษก อสส. เผย คณะทำงานตรวจคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีดัง ดีกรี ว่าที่ ออส. ส่วนจะรื้อคดีได้หรือไม่ อยู่ที่พยานหลักฐานใหม่

วันนี้ (2 มี.ค.66) นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้าหลังนางสาวนารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด มีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง 6 คดีสำคัญ ที่ก่อนหน้านี้ อัยการผู้รับผิดชอบคดีมีคำสั่งไม่ฟ้อง ได้แก่ คดีเผาสวนงูภูเก็ต, คดีของนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก, คดีซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก หรือคดีที่บริษัทเครือของนายเปรมชัย กรรณสูต ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า, คดีของนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก, คดีบ่อนพนันออนไลน์มาวินเบตดอทคอม และคดีจับยาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ดที่จังหวัดนนทบุรี รวม 6 คดี โดยแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบรวม 5 คณะ

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า สาเหตุที่มีการรื้อตรวจสอบทั้ง 6 คดี เนื่องจากทีมงานของอัยการสูงสุดได้ตรวจสอบข่าวต่างๆ ที่มีการนำเสนอต่อสื่อมวลชน และจากบุคคลหลายส่วนรวมถึงนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่มายื่นเรื่องร้องเรียนต่ออัยการสูงสุด ซึ่งคณะทำงานเห็นว่าเป็นคดีที่อาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร จึงต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมว่าคำสั่งและสำนวนคดีเป็นไปด้วยความถูกต้องหรือไม่ และอาจมีการเรียกพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข่าวเข้ามาให้ข้อมูลด้วย โดยหากพบว่ามีประเด็นใดที่บกพร่องก็จะรายงานต่ออัยการสูงสุดโดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่ากรอบระยะเวลาจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 เดือน

ส่วนพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบทั้ง 6 คดีนั้น เบื้องต้นไม่ใช่พนักงานอัยการคนเดียวกัน ส่วนแต่ละคนจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหรือไม่ ต้องให้คณะทำงานตรวจสอบอย่างละเอียดก่อน เพราะโดยปกติทั่วไปอัยการก็มักจะรู้จักกันในวงการอยู่แล้ว และระหว่างที่คณะทำงานมีการตรวจสอบทั้ง 6 คดีอยู่นี้ ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องสั่งพักงานหรือปลดอัยการผู้รับผิดชอบ 6 คดีที่เป็นประเด็นออกจากคดีอื่นที่ทำอยู่ เพราะในชั้นนี้เป็นเพียงการตรวจสอบชั้นต้นเท่านั้น และยังไม่พบข้อบกพร่องต่อหน้าที่ และหากพบข้อพกพร่องก็ต้องนำเสนออัยการสูงสุดพิจารณาก่อนว่าจะดำเนินการทางวินัยอย่างไรหรือไม่

และท้ายที่สุดแล้ว หากพบว่ามีคดีใดบกพร่องไปแล้ว อัยการสูงสุดจะสามารถรื้อคดีที่พนักงานอัยการเคยมีคำสั่งไม่ฟ้องได้หรือไม่นั้น ก็ต้องดูว่าข้อบกพร่องที่พบเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายให้สามารถรื้อคดีได้หรือไม่ เช่น จะต้องพบพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งเบื้องต้นกฎหมายมีแนวทางไว้ให้อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดไม่เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานกลาง หรือหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วยตรวจสอบ แทนที่จะเป็นอัยการตรวจสอบอัยการด้วยกันเอง รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกอาจไม่ทราบถึงระเบียบและแนวทางการทำงานของพนักงานอัยการเท่าคณะทำงานที่แต่งตั้งขึ้นมา ซึ่งคณะนี้เป็นว่าที่อัยการสูงสุดหลายท่าน ที่จะมาทำงานสานต่อภารกิจจากอัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ที่กำลังจะหมดวาระในอีกประมาณ 7 เดือน ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นและไว้วางใจคณะทำงานชุดนี้