ขยายคดีดัง : บทเรียนซ้ำซากที่แก้ไม่ตก

View icon 45
วันที่ 19 มี.ค. 2566 | 12.04 น.
ข่าวเด็ด 7 สี
แชร์
ข่าวเด็ด 7 สี - สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่ทุกคนเฝ้าติดตามด้วยใจระทึก คือ กรณีนายตำรวจสันติบาล เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ยิงปืนในชุมชน และขังตัวเองอยู่ในบ้านพัก ตำรวจต้องสนธิกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ และอพยพผู้คนที่พักอาศัยอยู่ใกล้เคียงไปอยู่ในจุดปลอดภัย เพราะผู้ก่อเหตุมีอาการป่วยทางจิตร่วมด้วย เหตุการณ์นี้สะท้อนอะไรกับสังคมไทยบ้าง ขยายคดีดัง กับคุณรัตนกรณ์ โต๊ะหมัด

ขยายคดีดัง วันนี้เรามาขยายคดีสารวัตรกานต์ ตำรวจสันติบาลที่ป่วยจนคลุ้มคลั่ง ตำรวจปฏิบัติการเกลี้ยกล่อมกันข้ามวันข้ามคืน สุดท้ายปิดฉากเหตุการณ์ด้วยความสูญเสีย สารวัตรกานต์จากไปโดยไม่มีวันหวนกลับ แต่เรื่องมันไม่ได้จบเพียงแค่นี้

เพราะสังคมเกิดคำถามทันทีว่า จากเหตุกราดยิงที่หนองบัวลำภู ถอดบทเรียนแล้วว่า จะกวาดล้างอาวุธปืน ยาเสพติด ตรวจสุขภาพจิตตำรวจ แล้วทำไมยังเกิดเหตุซ้ำซาก ที่น่าสนใจคือ จากการตรวจค้นในห้องพักเจออุปกรณ์การเสพกัญชา และต้นกัญชาที่ปลูกไว้หลังห้อง กลายเป็นคำถามเพิ่มว่า กัญชาเพื่อการแพทย์ ถูกใช้เพื่อนันทนาการ จนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ด้วยหรือไม่

สารวัตรกานต์ตะโกนปาว ๆ บอกตำรวจนี่แหละตัวดี ค้ายาเสพติดเอง เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ระทึกกลางกรุง ก่อนที่เจ้าตัวจะเริ่มยิงปืนออกจากตัวบ้าน เคราะห์ดีไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุตำรวจได้ขนทุกยุทธวิธีในการเกลี้ยกล่อม ทั้งหนักทั้งเบา ไม่ว่าจะยิงก๊าซน้ำตา หรือแม้แต่ร้องเพลง ให้แม่ช่วยพูดก็แล้ว ให้อดีตผู้บังคับบัญชาพูดก็แล้ว สุดท้ายทุกอย่างไม่เป็นผล จบที่การเปิดปฏิบัติการของอรินทราชและคอมมาโด บุกเข้าไปในบ้าน มีการยิงต่อสู้กัน จนสารวัตรกานต์ตัดสินใจกระโดดหน้าต่างชั้น 2 ก่อนจะเสียชีวิตในวันเดียวกัน

การปฏิบัติการครั้งนี้ตำรวจใช้กระสุนจริงในการระงับเหตุ เกิดเป็นคำถามว่า เกินกว่าเหตุหรือไม่ เรื่องนี้รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดอกเตอร์ กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิตให้ความเห็นว่า ตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก แต่ในอนาคตต้องมีการทบทวนเรื่องการการเข้าจับกุม เกลี้ยกล่อมบุคคลที่มีอาการทางจิตเพิ่มเติม

ขณะตำรวจเปิดปฏิบัติการสังคมไม่ได้โฟกัสแค่การคุมตัวสารวัตรกานต์ได้ แต่กลับให้ความสนใจกับต้นกัญชา 2 ต้นที่ปลูกไว้หลังห้อง กลายเป็นคำถาม เพราะสารวัตรกานต์สูบกัญชา หรือไม่ถึงทำให้คลุ้มคลั่งได้ขนาดนี้

ร้อนไปถึงพรรคภูมิใจไทย เจ้าภาพหลักในการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด ต้องออกโรงชี้แจง ยืนยันสารในกัญชาไม่ได้ทำให้คนคลุ้มคลั่ง และประกาศเดินหน้าชูนโยบายกัญชาต่อ

นายศุภชัย บอกเห็นบ้านชาวบ้านจำนวนมากมีบ้องกัญชาอยู่ ไม่เห็นมีใครคลุ้มคลั่งเลย ทีมข่าวเราไปหาคำตอบเรื่องนี้ จากศาสตราจารย์นายแพทย์มานิต ศรีสุรภานนท์ ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า เมื่อมีอาการทางจิต และมีการใช้สารเสพติดร่วม ยิ่งส่งผลให้อาการรุนแรงมากขึ้น การเสพกัญชา จะไปออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท กระตุ้นให้เกิดอาการทางจิตเวชกำเริบได้

ไม่เพียงเท่านั้นนายแพทย์บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต บอกว่า ไม่แนะนำให้ใช้กัญชา รักษาอาการทางจิตเวช ไม่ว่าจะรูปแบบใด เพราะกัญชามีฤทธิ์รบกวนการทำงานของสมอง และเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตเวชได้ เช่น หลงผิด หูแว่ว ประสาทหลอน อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า วิตกกังวล เด็กและเยาวชน และผู้ป่วยจิตเวชไม่ควรใช้กัญชา ซึ่งแพทย์ก็ย้ำมาตลอดว่า การปลดล็อกเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ไม่ใช่การเปิดเสรีเพื่อนันทนาการ แต่ก็เกิดคำถามละครับว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ

มาต่อกันที่การแก้ปัญหาของวางการสีกากีกันบ้าง ปกติตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน แต่ก็มีไม่น้อยที่หันปลายกระบอกปืนมาหาประชาชน จนกลายเป็นโศกนาฏกรรม เช่น กรณีหนองบัวลำภู พูดแล้วพูดอีกเรื่องการตรวจสุขภาพจิต สุดท้ายเกิดเหตุล่าสุด ก็กลับมาย้ำคำเดิมอีกรอบ

อะไรเป็นสาเหตุให้ตำรวจเครียด บางครั้งหนักถึงขั้นกลายเป็นผู้ต้องหา หรือแม้กระทั่งจบชีวิตตัวเอง อย่างล่าสุดเกิดเหตุเศร้าขึ้นที่ สภ.อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีตำรวจนายหนึ่ง อายุ 42 ปี ผูกคอตายคาห้องพักแฟลตตำรวจ เพราะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ระหว่างรักษเพื่อนๆ ตำรวจก็ให้กำลังใจกัน แต่สุดท้ายตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง สร้างความโศกเศร้าให้กับเพื่อนข้าราชการตำรวจที่พักอยู่ในแฟลตเดียวกัน

มีข้อมูลที่น่าสนใจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถิติตำรวจฆ่าตัวตาย ปี 2561-2564 มีทั้งสิ้น 443 นาย เกิดจากปัญหาสุขภาพ 129 นายปัญหาอื่น ๆ 121 นายปัญหาครอบครัว 98 นายปัญหาส่วนตัว 39 นายปัญหาหนี้สิน 38 นายปัญหาเรื่องงาน 18 นาย

นอกจากนี้ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครับ นั้นการสรุปผลการลงโทษทางวินัยตำรวจนอกรีด ที่กระทำความผิด โดยปี 2566 ผ่านมา 2 เดือน มีตำรวจทำผิดวินัยร้ายแรง ถูกไล่ออก 22 นายปลดออก 4 นาย

ส่วนปี 2565 มีตำรวจทำผิดวินัยร้ายแรง ถูกไล่ออก 201 นาย ปลดออก 58 นาย รวมทั้งสิ้น 259 นาย

ที่ผ่านมามีหลายต่อหลายครั้งที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปพัวฟันกับยาเสพติด หรือป่วย และใช้อาวุธปืนคู่กายที่ใช้ดูแลประชาชนมาทำร้ายประชาชน อย่างกราดยิงที่หนองบัวลำภูปีก่อน เกิดแรงกระเพื่อมให้กวาดล้างอาวุธปืน เปิดช่องให้คืนปืนเถื่อน แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นผลและไม่มีความคืบหน้า แถมยังมีกรณีตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าหากแก้ปัญหาไม่ได้ สุดท้ายอาวุธปืนในมือเจ้าหน้าที่ อาจกลายเป็นภัยคุกคามของสังคม สะท้อนว่า การหยุดปัญหาไม่ได้จบที่การถอดบทเรียน แต่ต้องแก้ไขอย่างจริงจังเท่านั้น