เลือกตั้ง 2566 : ลุ้น ยุบสภาฯ วันนี้

View icon 79
วันที่ 20 มี.ค. 2566 | 11.31 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ขอบสนามเลือกตั้งวันนี้ ต้องบอกว่า รอลุ้นระทึกกันเลยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาจะประกาศออกมาเมื่อไหร่ เพราะมีเวลาเหลือแค่ 3 วัน คือระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคมเท่านั้น ซึ่งทันทีที่ยุบสภาฯ สมาชิกภาพของ สส. จะสิ้นสุดลง ส่งผลให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างแท้จริง

ลุ้น ยุบสภาฯ วันนี้
คำถามมักเกิดขึ้นในใจของหลายคนว่า เมื่อยุบสภาฯ แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป มีสิ่งใดที่กระทบการวิถีชีวิตของผู้คนหรือไม่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชน จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ข้อห้าม ข้อจำกัดมีมากน้อยแค่ไหน 

ตามกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ต้องรับบทนำในการเลือกตั้ง โดยจะกำหนดวันรับสมัคร ภายใน 5 วัน นับตั้งแต่ยุบสภาฯ และประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. ภายใน 7 วัน นับจากวันปิดรับสมัคร, ประกาศหน่วยเลือกตั้ง สถานที่ลงคะแนน และรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 25 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง, ส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน แต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง, แจ้งเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง เพิ่ม หรือ ถอนชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 10 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง, เปิดให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ภายใน 7 วัน ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง

เบื้องต้น มีไทม์ไลน์ของ กกต. วางไว้ว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขต วันที่ 3-7 เมษายน ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำหนด และเริ่มรับสมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อ รวมถึงส่งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่นดินแดง ในวันที่ 4 เมษายน และกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม เป็นวันเลือกตั้ง

แจงกติกา ครม. รักษาการ ระหว่างรอการเลือกตั้ง
หากคุณ คือ คณะรัฐมนตรี แม้จะทำหน้าที่รักษาการ เพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่ แต่ยังมีอำนาจเต็มบริหารประเทศได้เหมือนเดิม เพียงแค่อาจมีข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการอนุมัติงบประมาณ และการแต่งตั้งบางกรณีที่ต้องถามความเห็นจาก กกต. ทั้งยังต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ทรัพยากรของรัฐ ไม่ให้เอื้อประโยชน์กับการเลือกตั้ง รวมทั้งในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจราชการ ต้องไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

พรรคการเมือง เดินหน้าทำไพรมารีโหวต 
สำหรับพรรคการเมือง คุณ คือ เพลย์เมกเกอร์ตัวจริง ถึงเวลาของคุณแล้ว ที่ต้องรีบทำไพรมารีโหวต รับฟังความเห็นจากตัวแทนสาขาพรรค หรือตัวแทนประจำจังหวัด คัดตัวว่าที่ผู้สมัคร สส. ที่เหมาะสมตามขั้นตอนของกฎหมาย ตรวจสอบคุณสมบัติให้ดี ยิ่งบรรดา สส. ย้ายพรรค ต้องเข้าสังกัดเป็นสมาชิกพรรคติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อได้รายชื่อมาแล้ว ต้องส่งให้คณะกรรมการบริหารพรรค เลือกผู้ที่เหมาะสมเป็นขั้นตอนสุดท้าย เดินหน้าส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้ง

แต่หากคุณ คือ ประชาชนทั่วไป ก็จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องรู้ข้อห้ามปฎิบัติในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งด้วย โดยเฉพาะเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงที่ทำไม่ได้แน่ การใส่ร้ายป้ายสี กลั่นแกล้งให้ผู้อื่นเข้าใจผิดต่อตัวผู้สมัคร ก็ล้วนทำไม่ได้ หรือจะจัดให้มีการพนันผลการเลือกตั้งก็ทำไม่ได้ และที่สำคัญ ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย จะไปช่วยผู้สมัครหาเสียงยิ่งทำไม่ได้ เพราะมีโทษตามกฎหมายทั้งสิ้น