สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - ขอบสนามเลือกตั้ง 66 #วาระคนไทย วันนี้ ล้อกับกระแสคำว่า "มีราคา" ซึ่งก็รวมถึงนโยบายพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ออกมาเกทับ บลัฟแหลกกับนโยบายด้านสวัสดิการสังคม เพื่อยกระดับชีวิตของคนให้เท่าเทียม
แต่ก็มีข้อมูลงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบว่า จากนโยบายฯ ที่หาเสียงกันอยู่กว่า 10 พรรค หากไม่นับรวมนโยบายที่ซ้ำกัน รวม ๆ แล้วต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3.14 ล้านล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากงบประมาณรายจ่ายปี 2566 สะท้อนว่า "สวัสดิการก็มีราคา" แต่ว่าเงินงบประมาณจะมาจากไหน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เผยข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งทำการศึกษาเปรียบเทียบ นโยบายด้านสวัสดิการสังคมครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม
โดยเจาะ 6 กลุ่มเด่น ๆ คือ การให้เงินเด็กแรกเกิด 3,000 บาทต่อคน แต่ละปีจะใช้งบประมาณสูงถึง 1,965 ล้านบาท
ถัดมา นโยบายให้เงินตอบแทน อสม. จากคนละ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท ก็จะใช้งบประมาณ 13,080 ล้านบาท
การให้เงินเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน จะเฉลี่ยใช้งบประมาณปีละ 58,571 ล้านบาท หากให้เงินผู้พิการคนละ 3,0000 บาทต่อเดือน จะใช้งบประมาณปีละ 75,907 ล้านบาท เงินช่วยชาวนาเดือนละ 30,000 บาทต่อคนต่อครัวเรือน จะใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 136,462 ล้านบาท และเงินให้ผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาทต่อคน ใน 1 ปี ก็จะใช้งบประมาณ 504,463 ล้านบาท รวมทุกนโยบายหากทำหมดตามที่พูดมาจะเป็นเงินสูงถึง 775,403 ล้านบาท
จากยอดเงินงบประมาณที่ต้องใช้กับคน 6 กลุ่มข้างต้น หากนำมาลองบวกลบกับเงินงบประมาณประจำปี 2566 ที่มีอยู่ 3.18 ล้านล้านบาท หากหักเงินรายจ่ายประจำราว 2.34 ล้านล้านบาท ก็จะเหลืองบประมาณนำไปใช้ได้ราวกว่า 800,000 ล้านบาท
หากต้องนำเงินก้อนที่เหลือไป ดูแลกลุ่มคนสูงอายุ ที่มีงบประมาณต้องใช้ต่อปีกว่า 5.4 ล้านบาท ก็จะเหลือเงินแค่กว่า 300,000 ล้านบาท และถ้าต้องนำเงินไปใช้กับทุกกลุ่มตามนโยบายที่ว่ามาข้างต้น ก็จะพบว่า จะเหลืองบประมาณเพียงแค่กว่า 24,000 ล้านบาท เท่านั้น
เรียกว่า เกือบหมดแล้ว ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมเงินที่ต้องนำไปใช้บริหารจัดการประเทศด้านอื่น ดังนั้น การเปิดนโยบายของพรรคการเมือง หากดูภาคปฏิบัติก็อาจเกิดขึ้นไม่ได้จริง หรือถ้าทำจริงก็จะเป็นภาระที่อาจนำไปสู่วิกฤตทางการคลังได้
แม้ตามกฎหมายจะกำหนดให้พรรคการเมืองต้องระบุถึงแหล่งที่มาของรายได้ ความคุ้มค่า และผลกระทบจากนโยบาย แต่ในความเป็นจริง กลับมีพรรคการเมืองชี้แจงเรื่องนี้น้อยมาก โดยในขณะนี้ มีเพียงพรรคก้าวไกล ที่เปิดตัวนโยบาย 19 สวัสดิการก้าวหน้า ดูแลตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ใช้งบฯ 650,000 ล้านบาท ระบุแหล่งที่มาของงบประมาณไว้ว่า จะมาจากการลดขนาดกองทัพ และเรียกคืนธุรกิจกองทัพ, ลดงบฯ กลาง, ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี เช่น ภาษีรายได้นิติบุคคล ภาษีที่ดิน ภาษีความมั่งคั่ง เพื่อนำเงินมาเติมเป็นสวัสดิการให้ประชาชน
ส่วนพรรคอื่น ๆ คงต้องรอดูว่าจะแจกแจงที่มาของแหล่งเงินอย่างไร และต้องจับตาด้วยว่า กกต. จะทำหน้าที่คุมกฎได้เข้มแข็งแค่ไหน เพราะที่ผ่านมา ยังไม่มีการรายงานการตรวจสอบประเด็นเหล่านี้ให้กับสาธารณชนรับทราบเลย
เกาะติดทุกความเคลื่อนไหว เลือกตั้ง 66 #วาระคนไทย ได้ที่ www.ch7.com/election2566
ช่องทางโซเชียลมีเดีย
Facebook : www.facebook.com/Ch7HDNews/
Twitter : www.twitter.com/Ch7HD
IG : www.instagram.com/ch7hd_news
TikTok : www.tiktok.com/@ch7hd_news
Youtube : www.bit.ly/youtubech7hd