สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - ขอบสนามเลือกตั้งวันนี้ ตรวจสอบนโยบายด้านการเกษตร หลายพรรคเริ่มเปิดนโยบายกันแล้ว ทั้งการประกันรายได้ การให้เงินชาวนา 30,000 บาทต่อ 1 ครัวเรือน การให้ที่ดิน สปก. เพื่อทำกิน ไปจนถึงการพักชำระหนี้
แต่ทั้งหมดเหล่านี้ ก็มีข้อมูลผลวิจัยของทีดีอาร์ไอ พบว่า นโยบายประกันรายได้และช่วยต้นทุนเกษตรกรการปลูกข้าว เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการส่งออกข้าวแล้ว ยังขาดดุลกันอยู่กว่า 7,000-10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ก่อนอื่น ชาวนาคิดอย่างไรต่อโครงการประกันรายได้ของรัฐ แล้วทุกวันนี้หลุดพ้นบ่วงหนี้หรือยัง
เป็นเสียงสะท้อนของชาวนาในจังหวัดชัยภูมิ ที่ยอมรับว่า หนี้สินที่แบกอยู่ไม่ได้หมดไป แม้จะมีโครงการประกันรายได้มาช่วย ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ
พบว่า นโยบายการแทรกแซงราคาข้าวผ่านโครงการประกันรายได้เมื่อปี 2564-2565 ที่ใช้อยู่ราวเกือบปีละ 140,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ มูลค่าการส่งออกที่ทำได้เพียงกว่า 130,000 ล้านบาท ก็ยังขาดทุนอยู่
หนำซ้ำ เมื่อปีที่ผ่านมา ข้าวหอมมะลิไทย ยังเสียแชมป์ข้าวคุณภาพดีที่สุดในโลก ให้กับเวียดนามไปแล้ว สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมีผลจากนโยบายประกันราคาข้าว บีบให้เกษตรกรต้องซอยแปลงปลูกข้าวให้เล็กลง เทคโนโลยีเข้าไปไม่ถึง มีผลให้เสียทั้งคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่ ซึ่งไทยทำได้เพียงเกือบ 5,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ เวียดนามผลิตข้าวได้ตั้งแต่ 8,000-10,000 กิโลกรัมต่อไร่
หากเจาะลงที่ฐานข้อมูลเกษตรกรไทยทั้งระบบจะพบว่า มีอยู่ราวกว่า 8.03 ล้านครัวเรือน หรือกว่า 9.2 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีข้อมูลวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ทำไว้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ในหัวข้อ กับดักหนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก ซึ่งเป็นการสำรวจภาคสนามศึกษาพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทยกว่า 6 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
พบว่า ครัวเรือนเกษตรกรไทยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีหนี้สินเฉลี่ย 450,000 บาท และส่วนใหญ่ยังสุ่มเสี่ยงจะติดกับดักหนี้อยู่ที่ระดับ 70 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินในระยะยาว
สาเหตุเกิดจากปัญหาบริหารจัดการทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกร เพราะมีรายได้น้อยไม่พอกับรายจ่าย มีรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรไม่สม่ำเสมอ รวมทั้งเครื่องมือทางการเงินก็ยังไม่ตอบโจทย์
สอดคล้องกับข้อมูลของทีดีอาร์ไอ ที่พบว่า นโยบายการช่วยเหลือภาคเกษตรของรัฐ อาทิ การพักชำระหนี้ การประกันรายได้พืชผล ที่ผ่านมายังเป็นต้นเหตุให้เกษตรกรก้าวไม่พ้นบ่วงหนี้
เป็นอีกข้อสังเกตที่กระทุ้งตรง ๆ ไปยังนโยบายพรรคการเมือง รวมถึงรัฐบาล ว่า การให้ของรัฐต้องไม่ทำลาย แต่เป็นให้เพื่อสร้างเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งพึ่งพิงตนเอง เพียงแค่ต้องมีกรอบกติกาเงื่อนไขให้เกิดการพัฒนาในสายอาชีพอย่างแท้จริง อย่าคิดแต่หวังผลคะแนนนิยม จนไม่คำนึงถึงความยั่งยืน
เกาะติดทุกความเคลื่อนไหว เลือกตั้ง 66 #วาระคนไทย ได้ที่ www.ch7.com/election2566
ช่องทางโซเชียลมีเดีย
Facebook : www.facebook.com/Ch7HDNews
Twitter : www.twitter.com/Ch7HD
IG : www.instagram.com/ch7hd_news
TikTok : www.tiktok.com/@ch7hd_news
Youtube : www.bit.ly/youtubech7hd