สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 176
วันที่ 26 มี.ค. 2566 | 20.02 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 06.56 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานวันครบรอบ 106 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โอกาสนี้ ทรงวางพุ่มดอกไม้และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยะมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า จากนั้น ทรงบาตรพระสงฆ์ 10 รูป ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน

โอกาสนี้ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นจารึกเรือนไทยแสงอรุณ รัตกสิกร เป็นเรือนไทยที่มีอายุ 70 ปี ได้รับมอบจากทายาทของอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร ซึ่งชมรมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น 16 ร่วมกันจัดหาทุน เพื่อเคลื่อนย้ายมาประกอบใหม่บริเวณกลุ่มเรือนไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ

จากนั้น เสด็จออกหน้ามุข หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้แทนคณาจารย์ บุคลากร นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2566

โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสถึงความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันของชาวจุฬาฯ

ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องรับรอง หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหารมหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของขวัญ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ, ผู้แทนผู้บริหาร ผู้แทนประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภาคส่วนต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีไทย "ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์" จัดขึ้นเนื่องในงานวันครบรอบ 106 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย การบรรเลงบทเพลงโหมโรงมหาจุฬาลงกรณ์ การบรรเลงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ เพลงแขกต่อยหม้อ เถา และการจับระบำชุมนุมเผ่าไทย ในการนี้ ทรงซอด้วง ในการขับร้องและบรรเลงดนตรีไทย เรื่อง "สมเด็จกรมหลวงนราธิวาส" บทพระราชนิพนธ์และการแสดงพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติครบ 100 ปี บรรเลงโดยวงสายใยจามจุรี และวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนิสิตจากภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแสดงประกอบบทเพลง

เวลา 11.23 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด "อาคารสรรพศาสตร์วิจัย" เป็นอาคารปฏิบัติการวิจัยและการเรียนการสอนเฉพาะทาง สูง 15 ชั้น รองรับหน่วยงานของมหาวิทยาลัย มีลักษณะเป็นหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย สถาบันเฉพาะทาง หรือวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษา นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น ศูนย์เครื่องมือวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม, สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์, วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และคณะเภสัชศาสตร์

เวลา 17.50 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมรุวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ในการพระราชทานเพลิงศพ พันโท เสนาะ หลวงสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ซึ่งถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 สิริอายุได้ 88 ปี

พันโท เสนาะ หลวงสุนทร เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2477 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุตรของครูบาง กับนางสนิท หลวงสุนทร สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนวัดป้อมแก้ว และโรงเรียนธรรมโชติ วัดช่องลม จังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้น เข้าศึกษาหลักสูตรนายสิบอาวุโส ที่โรงเรียนดุริยางค์ทหารบก และหลักสูตรนายทหารสัญญาบัตร กรมยุทธศึกษาทหารบก ในภายหลังได้ศึกษาเพิ่มเติมที่โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่วัดพระยาทำ พันโท เสนาะ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านดนตรี เริ่มฝึกหัดดนตรีไทยเมื่ออายุ 11 ปี มีโอกาสได้ศึกษา ด้านดนตรีสากลกับครูพยอม ดิษฐ์ปัญญา, เรียนระนาดเอกกับครูบาง หลวงสุนทร ผู้เป็นบิดา และได้เป็นศิษย์ของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) นอกจากนี้ ยังสนใจใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ เรียนต่อเพลงกับครูเพลงต่าง ๆ จนชำนาญ ด้านการทำงาน บรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งประจำหมวดโยธวาทิต กองดุริยางค์ทหารบก ในปี 2499, เป็นอาจารย์โรงเรียนดุริยางค์ทหารบก สอนวิชาทฤษฎี ดนตรีไทย ประวัติดนตรีไทย ทฤษฎีโน้ตสากลเบื้องต้นและโสตประสาท นอกจากนี้ ยังเป็นอาจารย์พิเศษให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดนตรีไทย สร้างผลงานด้านการบรรเลงดนตรี และประพันธ์บทเพลงไว้มากมาย จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) พุทธศักราช 2555 ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับนางสุนทรี หลวงสุนทร มีบุตร-ธิดา 2 คน