ชูวิทย์ ลั่น "กูไม่กลัวมึง" ด้าน ทนายตั้ม เปิดชื่อ 2 นายพลตำรวจ

View icon 36
วันที่ 28 มี.ค. 2566 | 06.21 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - การเปิดศึกระหว่างนายษิทรา เบี้ยบังเกิด และ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ยังไม่จบลงง่าย ๆ วันนี้ นายษิทรา เปิดเผยชื่อนายพลตำรวจที่นำเงินสารวัตรซัว ไปมอบให้นายชูวิทย์ แล้ว ขณะที่ นายชูวิทย์ จ่อฟ้องนายษิทรา คดีละ 100 ล้านบาท และบอกว่า "กูไม่กลัวมึง"

เมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ พร้อมทนายความ นายอนันต์ชัย ไชยเดช เดินทางไปที่ศาลอาญา ในคดีที่ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีบริษัทต้นตระกูล จำกัด และนายชูวิทย์ ยื่นฟ้องนายสันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตตำรวจสันติบาล ในข้อหาแจ้งความเท็จ, สร้างพยานหลักฐานเท็จ และหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

แต่เรื่องที่สื่อมวลชนสนใจในตอนนี้ คือการเปิดศึกที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างนายชูวิทย์ กับนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทนายความเพื่อประชาชนฯ

ขณะที่ นายษิทรา เปิดแถลงข่าวที่บริษัทษิทราลอว์เฟิร์ม จำกัด ตอบโต้นายชูวิทย์ โดยเฉพาะในประเด็นที่ถูกแฉกลับผ่านทางเฟซบุ๊กเมื่อวันก่อนว่า "แถลงไป ไถไป" มีการเรียกเงินค่าแถลงข่าว 300,000 บาท จากลูกความ  

นายชูวิทย์ บอกว่า อาชีพทนายต้องใช้กฎหมาย เมื่อมีคนเดือดร้อน ถ้าไปคิดเงินตอนแถลงข่าว 300,000 บาท ซึ่งยังไม่มีโจทก์ไม่มีจำเลย ตัวเองก็ไม่มีหลักฐาน นั่นแปลว่าพูดฝ่ายเดียวหรือไม่ ตนไม่คิดว่าทนายความจะคิดเงินค่าแถลงข่าว ดังนั้น สมาคมทนายความหรือสื่อมวลชนควรจะพิจารณา การเป็นทนายความต้องใช้ความสามารถ ต้องใช้หลักฐาน ใช้พยาน แต่ปรากฏว่าอีกฝ่ายใช้การแถลงข่าว ไม่ใช่วิถีของทนายความ โดยเฉพาะเมื่อบอกว่าตัวเองเป็นทนายประชาชน

นายษิทรา ยอมรับในเรื่องนี้ว่า มีการเรียกเก็บค่าแถลงข่าวจริง แต่ไม่ได้เรียกเก็บทุกเคส สาเหตุที่ต้องเรียกเก็บ เพราะเป็นค่าป้องกันการถูกฟ้องในอนาคต นอกจากนี้เงินที่ลูกความได้รับจากการฟ้องชนะคดี ก็จะได้รับส่วนแบ่ง 15% ไม่ได้บังคับลูกความ หากรับได้ก็ทำคดีให้ โดยที่ผ่านมาเรียกเก็บสูงที่สุดคือ 300,000 บาท คดีที่เคยเรียกเก็บเงินค่าแถลงข่าว เช่น คดีรองนายกฯ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ คดีของไฮโซช่อฉัตร นักธุรกิจสาว ฟ้องร้องผู้ช่วยรองประธานสภา

ส่วนภาพใบเสนอราคา ที่นายชูวิทย์ นำไปโพสต์เป็นเหตุการณ์วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา "นายตี้" ที่เกี่ยวข้องกับเว็บพนันมาปรึกษาตนว่ามีญาติกดโทรศัพท์ตัวเองโอนเงิน 40 ล้านบาทเข้าเว็บพนัน จึงต้องการให้ตนตามเรื่องกับตำรวจไซเบอร์ อ้างว่าเกี่ยวข้องกับนายตำรวจใหญ่ ยอดค่าเสียหาย 40-50 ล้าน ตนเรียกค่าแถลงข่าว 300,000 และถ้าเขาได้เงินกลับคืนมา ตนคิด 15% ไม่เคยไปไถ ไม่ได้มุบมิบเอาเงิน

ปีที่ผ่านมา มีเคสมาปรึกษา 1,500 เคส เเต่รับไม่ถึง 10% เพราะสำนักงานทนายษิทรา คิดเเพง คนที่โทรศัพท์ปรึกษา หากเป็นทีมงานคิดค่าปรึกษา 20 นาที 1,000 บาท เเต่ถ้าคุยกับทนายตั้มโดยตรง 20 นาที 1,500 บาท ถ้ามาเจอตัวทนายตั้ม ครึ่งชั่วโมง คิดค่าปรึกษา 3,000 บาท มันคือวิชาชีพ เพราะไม่มีเงินเดือน ตนไม่ได้ทำธุรกิจสีเทา และไม่ได้ทำอาบอบนวด

นายชูวิทย์ พูดไปถึงการเคลื่อนไหวของทนายตั้ม ว่า ตอนนี้มีกระบวนการพยายามที่จะมาปิดปากตนเอง มีทั้งทนายความ พวกหิวแสง นักร้องเรียน ใครฟ้องมา ตนก็จะฟ้องกลับ จะสู้ในทางกฎหมาย พร้อมสู้ทุกทาง เวลาสู้ก็จะไม่ถอยเหมือนกัน ฝากไปบอกหมาลอบกัด พร้อมจะกัดตอบ พร้อมประกาศว่า "กูไม่กลัวมึง"

ขณะที่ นายษิทรา ก็ไม่กลัวเช่นกัน เปิดเผยชื่อนายพลตำรวจ 2 นาย ที่นำถุงเงินของสารวัตรซัว ไปมอบให้นายชูวิทย์ ถึงโรงแรมเดวิส ว่า คนแรกคือ พล.ต.ท. ก. ซึ่งเป็นอดีตตำรวจ และ พล.ต.ต. อ. ซึ่งปัจจุบันอยู่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.

นายษิทรา บอกว่า นายชูวิทย์ สนิทสนมกับตำรวจทั้ง 2 นาย เป็นผู้นำเงินสารวัตรซัว ไปมอบให้นายชูวิทย์ เพื่อปิดปากการแฉเรื่องลาลิซ่าอาบอบนวด ซึ่งในวันนั้น นอกจากตำรวจ 2 นาย ยังมีเจ้าของบ่อนพนันย่านพระราม 3 ที่มีตำรวจถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ 2 ปีก่อน เป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย น่าเชื่อได้ว่า อดีตตำรวจทั้งสองนายได้รับอนุญาตจากสารวัตรซัว ให้นำเงินมามอบแก่นายชูวิทย์ โดยรูปถุงเงินดังกล่าวนั้น เป็นการส่งงานให้กับเจ้าของเงินอีกครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเงินถึงมือแล้ว

นายษิทรา บอกด้วยว่า หากนำเรื่องดังกล่าวไปร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เคยเป็นต้นสังกัดของอดีตตำรวจทั้งสองนาย การตรวจสอบก็คงไม่เกิดขึ้น จึงกำลังเตรียมทำเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบในวันนี้ และจะให้ตำรวจสอบสวนกลาง ตรวจสอบเส้นทางการเงินสกุลดิจิทัลกว่า 50 ล้านบาท ที่โอนเข้าไปให้ลูกชายนายชูวิทย์ พร้อมยืนยันตนไม่รู้จักหรือเกี่ยวข้องกับสารวัตรซัว ตามที่นายชูวิทย์ กล่าวหา หากตนรับเงินจากฝ่ายใดก็ตามมาโจมตีนายชูวิทย์ ขอให้ล่มสลายและมีอันเป็นไป ส่วนพรรคการเมืองที่นายชูวิทย์ โจมตีอยู่นั้น ก็ยังฟ้องร้องตนเช่นกัน ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมือง

ด้าน นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความของนายชูวิทย์ ตอบโต้ในประเด็นนี้ว่า หลังจากนี้นายชูวิทย์ จะไม่ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้แล้ว ไม่ใช่นายชูวิทย์กลัว แต่ตนในฐานะทนายความแนะนำไว้ หากนายษิทรา ให้สัมภาษณ์พาดพิงนายชูวิทย์อีก จะโดนดำเนินคดีอาญาและแพ่ง เรียก 100 ล้านบาทต่อครั้ง

ทนายความของนายชูวิทย์ ยังกล่าวถึง 3 ประเด็นที่มีการให้ร้ายนายชูวิทย์ คือ

1. การแถลงข่าวและการให้สัมภาษณ์ของนายษิทรา เข้าข่ายหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา

2. นายษิทรา ผิดมรรยาททนายความ จะร้องสภาทนายความให้ตรวจสอบ

3. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้บริหาร ปปง. เข้าข่ายความผิด ม.157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และ ม.200 เป็นเจ้าพนักงานกระทำการเพื่อช่วยให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับโทษหนักขึ้น

ส่วนนายชูวิทย์ ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กในตอนดึก ประมาณ 23.00 น. เมื่อคืนนี้ หัวข้อ "ทนายสีเทา" เนื้อหาบางตอน เช่น ทนายบางคนไม่ได้เงิน หรือได้เงินน้อย แต่ทำเพราะอยากช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยแล้วมีคดีถูกฉ้อโกง อย่างนี้จึงเรียกว่าทนายประชาชน

แต่การอาศัยสถานะทนาย แล้วไปเก็บเงินค่าแถลงข่าว นี่เป็นครั้งแรกที่เจอในชีวิตตั้งแต่เคยขึ้นโรงขึ้นศาลมา ทนายตั้มเป็นคนแรกที่เคยพบ

การที่ทนายตั้มอาศัยลูกความไปใช้ในการแถลงข่าว แทนการใช้กระบวนการยุติธรรม จึงไม่ใช่วิธีการของคนมีจรรยาบรรณวิชาชีพที่ใช้เป็นสัมมาอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวอย่างทนายทั่วไป

ทนายที่ใช้สื่อเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างแยบยล เท่ากับสื่อก็โดนหลอกใช้

พอจับได้ไล่ทันว่า ค่าแถลงข่าว 3 แสนบาท เสนอด้วยสำนักงานกฎหมายของตัวเอง ก็มาปัดพัลวันว่า แค่ 2-3 ครั้ง แต่ปัญหาอยู่ที่การกระทำแบบนี้ สังคมและสื่อยอมรับได้หรือไม่

หากมีคนขายยาเสพติดไปจ้างทนายตั้มว่าความ แล้วทนายตั้มนำคนขายยาเสพติดไปแถลงข่าวคิดเงินก็ย่อมทำได้

ชาวบ้านมีคดีหวังหนีร้อนมาพึ่งทนายประชาชน กลับถูกเรียกเอาค่าคุยหารือระยะเวลาสั้น ๆ

พอเห็นว่าลูกความมีสะตุ้งสตางค์ ก็ชวนไปแถลงข่าว เสียเงิน 3 แสนบาท

สังคมได้สิ่งที่ไร้สาระจากสื่อ ทนายตั้มได้เงิน และผมก็ต้องทนเขียนเรื่องไร้สาระถึงคุณ

นายชูวิทย์ ยังเขียนคอมเมนต์ใต้โพสต์อีก เช่น ทนายประชาชน ผมว่าไม่น่าใช่ เรียกทนายแบรนด์เนมดีกว่า ทนายอนันต์ชัย วันนี้แกก็แถลงข่าวให้ผม แต่ไม่ได้คิดเงินผมนะครับ เพราะแกไม่กลัวถูกฟ้อง เป็นสิ่งที่ทนายต้องปกป้องลูกความอยู่แล้ว เรียกว่า จรรยาบรรณวิชาชีพทนายความ