พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ส่งเสริมการทำงานแบบ Work from Home มากขึ้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ส่งเสริมการทำงานแบบ Work from Home มากขึ้น

View icon 119
วันที่ 29 มี.ค. 2566 | 14.22 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เริ่มบังคับ 18 เม.ย. 66 เปิดทางนายจ้าง-ลูกจ้างตกลงเวลาทำงานให้ชัดเจน ส่งเสริมการทำงานแบบ Work from Home มากขึ้น

เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน รูปแบบการทำงานในองค์กรธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยมีการทำงานจากที่พักอาศัยของลูกจ้าง (Work from Home) หรือ จากสถานที่อื่นๆ ดังนั้นจึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันให้ลูกจ้างสามารถนำงานไปทำนอกสถานประกอบกิจการหรือนอกสำนักงานของนายจ้างได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของลูกจ้างและเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของนายจ้าง

“เพิ่มบทบัญญัติใหม่ มาตรา 23/1” สาระสำคัญ คือ ให้นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงให้ลูกจ้างนำงานในทางการที่จ้าง สามารถปฏิบัติงานนอกสถานประกอบการหรือนอกสำนักงานของนายจ้าง ไปทำที่บ้านหรือที่พักอาศัยของลูกจ้าง หรือตกลงให้ลูกจ้างทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใดๆ ได้

ทั้งนี้นายจ้างและลูกจ้างต้องมีการตกลงให้มีรายละเอียด เช่น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการตกลง วัน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก และการทำงานล่วงเวลา การลา ขอบเขตหน้าที่ของลูกจ้าง การกำกับควบคุมของนายจ้าง ภาระหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือหรืออุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็น อันเนื่องจากการทำงาน เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานปกติตามที่มีการตกลงกันแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธในการติดต่อสื่อสารไม่ว่าในทางใด ๆ กับนายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงาน เว้นแต่ลูกจ้างได้ให้ความยินยอมโดยทำหนังสือไว้ล่วงหน้าก่อน  ทั้งนี้บทกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว ลูกจ้างซึ่งทำงานที่บ้าน หรือที่พักอาศัย หรือทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสถานที่ใด ๆ มีสิทธิและอยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานต่างๆ เช่นเดียวกับลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการหรือสำนักงานของนายจ้างด้วย

“เทรนด์ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ” เห็นชัดจากช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา แม้ในปัจจุบันสถานการณ์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  กลับพบว่าองค์กรขนาดใหญ่ ธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งยังคงนโยบาย Work from Anywhere ต่อ เนื่องจากพบว่า นโยบายดังกล่าวช่วยลดค่าใช้จ่ายองค์กร เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าพื้นที่ อีกทั้งพบว่าการสื่อสารประชุมผ่านเทคโนโลยีไม่ได้ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สภาพจิตใจของคนทำงานดีขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้พบว่าบางประเทศมีนโยบายสนับสนุนการทำงานนอกองค์กรมาก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เช่น  ผลสำรวจของ Gallup poll เมื่อปี 2017 ชี้ให้เห็นว่าพนักงานชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 43 ได้ทำงานแบบทางไกลมาระยะหนึ่งแล้ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้อ้างอิงผลการศึกษาของคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ได้ติดตามพนักงานออฟฟิศบริษัทท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของจีนเป็นเวลา 2 ปี และพบว่าคนที่ทำงานอยู่บ้านมีความก้าวหน้าของงานมากกว่าคนที่ทำงานในสำนักงานถึงร้อยละ 13 สำหรับประเทศไทยอ้างอิงผลการสำรวจจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ พบว่าคนรุ่นใหม่ในองค์กรของไทยกว่าร้อยละ 44 มีความเห็นว่ารูปแบบ Work from Home ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น และอยากให้คงมีนโยบายการทำงานจากบ้านต่อไป แม้ว่าจะไม่มีโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว โดยคิดเป็นร้อยละ 50

การที่รัฐบาลไทยส่งเสริมนโยบายดังกล่าวเป็นการสะท้อนการยอมรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานสมัยใหม่ การยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การปรับสมดุลตามแนวคิด work and life balance  นอกจากนี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยสนับสนุนให้คนทำงานมีโอกาสทำงานนอกสถานที่ ซึ่งมักเห็นได้จากแคมเปญของ ททท. ที่สนับสนุนนโยบายการทำงานและการเดินทางท่องเที่ยวไปด้วยกัน และต้อนรับผู้ที่มีอาชีพทำงานแบบไร้ออฟฟิศหรือทำงานทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีจากทั่วโลก (Digital nomads) ผลการสำรวจในปี 2019 พบว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนสูงถึง 25 ล้านคนทั่วโลก

อย่างไรก็ตามมองว่าองค์กรต้องกำหนดเส้นการขอลากิจกับการทำงานนอกสถานที่ต้องแบ่งให้ชัดเจน  การปรับทัศนคติและความรับผิดชอบของบุคลากรในองค์กรเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญของรูปแบบการทำงานแบบใหม่ รวมทั้งกำหนดวิธีวัดผลสัมฤทธิ์ของงานระบุให้ชัดเจน โดยเน้นการบริหารแบบมุ่งผลงาน (result-based management) กระบวนการในระหว่างทำงานต้องมีการให้ข้อมูลย้อนกลับชัดเจน และสามารถตรวจสอบความก้าวหน้าของงานทั้งในภาพรวมและติดตามผลรายบุคคลอยู่เสมอ เพื่อให้การทำงานออกมาได้ตามเป้าหมายที่กำหนด นอกจากนี้ในทางกลับกันการที่ไม่ได้มีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานแบบเผชิญหน้าถือเป็นหนึ่งในข้อด้อยที่ต้องคำนึงเช่นกัน อีกทั้งคนบางกลุ่มอาจจะแยกเวลางานและเวลาส่วนตัวไม่ได้ ทำให้เกิดมีแนวโน้มการทำงานแบบล่วงเวลามากขึ้นด้วยซ้ำ

กฎหมายแรงงานรองรับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง