CLMV โอกาสส่งออกไทย ยุคเศรษฐกิจโลกหดตัว

CLMV โอกาสส่งออกไทย ยุคเศรษฐกิจโลกหดตัว

View icon 62
วันที่ 30 มี.ค. 2566 | 15.54 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่หดตัว ภาคส่งออกของไทยได้รับผลกระทบโดยตรง ประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV กลายเป็นความหวังสำคัญ สำคัญอย่างไร #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จะเล่าให้ฟัง

CLMV ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม เป็นโอกาสสำคัญของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด พูดถึงเฉพาะประชากร สี่ประเทศนี้มีประชากรรวมประมาณ 180 ล้านคน หรือเกือบ 3 เท่าของประชากรไทย ที่สำคัญส่วนใหญ่ยังเป็นประชากรวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี ที่อยู่ในวัยจับจ่ายใช้สอยมาก โดยก่อนมีสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV เติบโตเฉลี่ยปีละกว่า 6-7% ขณะที่เศรษฐกิจไทยโตเพียง 2-4% เท่านั้น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV ยังขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนและเศรษฐกิจโลก (ข้อมูลระหว่างปี 2013-2018) โดยในช่วง 10 ปี ระหว่าง 2008-2018 สัดส่วนการส่งออกของไทยไปประเทศกลุ่ม CLMV ต่อการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นจาก 5.7% ในปี 2008 เป็น 11.6% ในปี 2018 สาเหตุสำคัญมาจากสินค้าไทยเป็นที่นิยม ได้รับการยอมรับสูง ทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ประเทศอยู่ติดกัน ทำให้ขนส่งสะดวก ต้นทุนต่ำ

คำถามคือเศรษฐกิจประเทศ CLMV ในปีนี้เป็นอย่างไร ไทยจะได้ประโยชน์จากการค้าไปกลุ่ม CLMV มากน้อยแค่ไหน

เศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม CLMV ในปี 2566 ขยายตัวดี แต่ยังต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ปีนี้กัมพูชาจะขยายตัว 5.5% ลาวและเมียนมาขยายตัว 3.0% ขณะที่เวียดนามโตที่ 6.2% โดยเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV ปีนี้สามารถฟื้นตัวจาก 2 ปีที่ผ่านมา ที่เผชิญการถดถอยจากการระบาดของโควิด

สาเหตุของการฟื้นตัวมาจาก 2 เหตุผลผลัก คือ 1) กำลังซื้อภายในของทุกประเทศใน CLMV ที่กลับมาเติบโตเพิ่มขึ้น และ 2) การกลับมาเดินทางได้ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน

นักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวใน CLMV นักท่องเที่ยวจากจีนคิดเป็นสัดส่วน 30-35% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยกัมพูชาและเวียดนามได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมากสุด เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงคิดเป็น 18.2% และ 9.8% ต่อ GDP ทีเดียว

ส่วนเศรษฐกิจของประเทศลาวและเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น เพราะเศรษฐกิจลาวมีความเสี่ยงจากสถานการณ์เงินเฟ้อสูง ประกอบกับมีฐานะการคลังที่อ่อนแอ มีหนี้ต่างประเทศมาก ลาวมีภาระการชำระหนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศของรัฐที่กว่า 1.2-1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ระดับต่ำเพียง 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ ก.ย. 2565) เท่านั้น

สำหรับเมียนมา ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ การนำเข้าส่งออก ตลอดจนเสถียรภาพการให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ที่หยุดชะงักบ่อย

สำหรับความเสี่ยงอื่นของเศรษฐกิจในกลุ่ม CLMV ปีนี้ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะขัดแย้งระหว่าง จีนและไต้หวัน ตลอดจนสหรัฐอเมริกา ที่อาจกระทบทั่วภูมิภาค กระทบถึงการการค้า การขนส่ง การนำเข้าและส่งออก เพิ่มการกีดกันการค้าระหว่างกันมากขึ้น สร้างปัญหาความชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน กระทบภาคการผลิตเนื่องจากวัตถุดิบขั้นต้นและขั้นกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุม ไทยรวมถึง CLMV มีโอกาสได้ประโยชน์จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ ในแง่นักลงทุน ผู้ประกอบการอาจเลือกย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อหลักเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า โดยไทยและ CLMV ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ไทยรวมถึงหลายประเทศใน CLMV มีการจัดทำข้อตกลงการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ช่วยเพิ่มแต้มต่อในการใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปประเทศอื่นๆ

ศาสตราจารย์ Pankaj Jha ผู้อำนวยการศูนย์ Centre for Security studies แห่ง India’s Jindal School of International Affairs ระบุว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามสะท้อนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจว่าเหนือกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในอาเซียน โดยสาเหตุสำคัญมาจาก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่สูง การเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ การเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลาง มาตรการสนับสนุนของรัฐบาลต่อภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการส่งออก

ปีนี้เศรษฐกิจโลกโดยรวมถดถอย โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดสำคัญของไทย ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกมีแนวโน้มลดลง เช่น ตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ ก็ลดลง 4.5% CLMV จึงนับเป็นที่พึ่งสำคัญของไทยในปีนี้

ทั้งนี้ในมุมกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าปีนี้ การส่งออกไป CLMV สามารถเพิ่มได้ 15% โดยนอกจากปัจจัยบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจของ CLMV ที่ดีขึ้น ปัจจัยอื่นที่สนับสนุนยังได้แก่ ปัญหาการขนส่งสินค้าที่คลี่คลาย ไม่ล่าช้าเหมือนช่วงโควิด สินค้าที่มีโอกาส ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ผลไม้ ผัก เป็นต้น

นอกจากการส่งสินค้าไปขาย CLMV ยังเป็นจุดหมายที่ผู้ประกอบการไทยน่าพิจารณาเพื่อไปลงทุน เพราะมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง เทียบกับตลาดอื่นๆ

ดังนั้น #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด เห็นว่า สำหรับผู้ประกอบการไทยในภาคส่งออก กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV จึงเป็นโอกาสทองที่ต้องไม่พลาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง