ในช่วงนี้ นักวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์หลายท่านทั้งในและต่างประเทศ ได้รับข้อความสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อสอบของ ทปอ. วิชาสังคมศึกษา รหัสวิชา 70 ข้อที่ 21 ว่านักวิชาการมองว่าข้อใดเป็นคำตอบที่ถูกต้อง
#เศรษฐศาตร์ตลาดสด เลยจะมาวิเคราะห์คำถามและคำตอบของข้อสอบข้อนี้กัน ตามที่ได้ถกประเด็นกับนักวิชาการหลายๆ ท่าน
เมื่อการเลี้ยงกุ้งขาวให้กำไรสูง ย่อมมีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาร่วมเป็นผู้ขายในตลาดกุ้งขาว หรือมีการขยายการผลิตกุ้งขาวของผู้ผลิตรายเดิม โดยเฉพาะในกรณีที่ตลาดไม่มีกฎหมายปิดกั้นการเข้าสู่ตลาดของผู้ผลิตรายใหม่ ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตในตลาดกุ้งขาวได้
การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตกุ้งขาว จึงทำให้อุปทานในตลาดเพิ่มขึ้น แต่เมื่อความต้องการในตลาดหรืออุปสงค์ไม่เปลี่ยนแปลง ราคากุ้งขาวจึงลดลง
คำถามในข้อสอบนี้ ถามว่า ข้อใดเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหา
ในเมื่อราคากุ้งขาวปรับลดลงตามกลไกตลาด เนื่องจากเกิดอุปทานส่วนเกิน การแก้ไขที่ดีที่สุด คือผู้ผลิตควรต้องปรับลดลงการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
แต่ในข้อสอบนี้ ไม่มีตัวเลือกวิธีดังกล่าว
แต่การเฉลยว่า วิธีที่เหมาะสม คือ แก้ปัญหาด้วยการกำหนดราคาให้สูงกว่าราคาดุลยภาพ อาจไม่เหมาะสมนัก
================================
เรามาวิเคราะห์กันว่าเพราะอะไรจึงไม่เหมาะสม
ผู้ผลิตเลือกผลิตกุ้งขาวเพิ่มเพราะอยากได้กำไรมากขึ้น แต่เมื่อกุ้งขาวในตลาดหาง่ายขึ้น ราคาก็ต้องลดลง กำไรก็ต้องลดลงเป็นเรื่องธรรมดา
สมมติว่า ราคากุ้งขาวตกต่ำมากจนผู้ผลิตขาดทุน แล้วรัฐต้องการช่วยผู้ผลิต ก็ต้องวิเคราะห์สาเหตุของราคาที่ตกต่ำ ซึ่งในกรณีนี้คือ อุปทานส่วนเกิน … หากไม่สามารถลดการผลิตได้ในทันที (เนื่องจากไม่มีตัวเลือกนี้ในข้อดังกล่าว) แต่อยากจะให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น ก็ต้องเพิ่มอุปสงค์ เช่น ส่งเสริมการบริโภคกุ้งขาว (ตัวเลือกที่ 3)
ส่วนบางท่านอาจมีความเห็นว่าให้ลดภาษีส่งออก (ตัวเลือกที่ 1) แม้นี่จะทำให้ต้นทุนการส่งออกลดลง และผู้ผลิตอาจจะส่งออกมากขึ้น แต่ในโลกปัจจุบันนั้น แทบจะไม่มีประเทศไหนเก็บภาษีส่งออก เพราะเป็นการอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ การเติบโตของเงินสำรองระหว่างประเทศ และการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งการลดภาษีส่งออก ไม่ได้หมายความว่าลูกค้าในต่างประเทศจะนำเข้ากุ้งขาวจากประเทศไทยมากขึ้น
การกำหนดราคากุ้งขาวให้สูงกว่าระดับราคาดุลยภาพ (ตัวเลือกที่ 4) แม้จะเป็นวิธีที่ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น แต่จะทำให้ผู้ผลิตไม่ปรับตัว คงปริมาณการผลิตเท่าเดิม ทั้งที่ไม่สามารถขายกุ้งได้หมด
ในเมื่อกุ้งขาวถูกตั้งไว้สูงกว่าราคาดุลยภาพซึ่งเป็นราคาที่ผู้ซื้อเต็มใจจะจ่าย (the willing-to-pay price) กุ้งขาวบางส่วนย่อมขายไม่ได้
สมมติว่ากุ้งที่เหลือสามารถเลี้ยงต่อไปได้เรื่อยๆ ปริมาณกุ้งก็จะล้นบ่อในที่สุด สุดท้ายก็ต้องยอมเอาออกมาขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่รัฐกำหนดไว้ เพราะยังไงก็ดีกว่าทิ้งกุ้งขาวเป็นขยะไป … ในที่สุด ราคากุ้งขาวก็ต้องตกลงมาอยู่ดี
=========
การแทรกแซงกลไกตลาด ด้วยการตั้งราคาที่สูงกว่าราคาดุลยภาพ ควรทำก็ต่อเมื่อสินค้านั้นเป็นสินค้าจำเป็น สินค้าหลักของประเทศ เพื่อพยุงให้ผู้ผลิตสินค้านั้นยังคงผลิตอยู่ ไม่หนีไปผลิตสินค้าอื่นที่ได้กำไรมากกว่ากันหมด จนคนในประเทศไม่มีสินค้าจำเป็นนั้นไว้กินไว้ใช้
แต่เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สามารถใช้วิธีนี้ได้ คือ สินค้าจะต้องมีตลาดที่จำกัด ไม่ใช่สินค้าส่งออกหลัก เพราะถ้าเป็นสินค้าส่งออก ราคาขั้นต่ำที่สูงเกินไปนี้จะผลักให้ราคาส่งออกสูงมากเกินไป ทำให้ผู้ผลิตและประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน … โดยเฉพาะในกรณีตลาดโลกของสินค้านั้นเป็นตลาดที่มีการแข่งขัน มีผู้ขายหลายราย
======
การเฉลยคำตอบว่าเป็น ตัวเลือกที่ 4 … เมื่อถามว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่
นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านจึงให้ความเห็นว่า แม้มันเป็นวิธีที่ทำให้ราคาสูงขึ้น แต่ไม่ได้เป็นวิธีที่เหมาะสม โดยเฉพาะโจทย์นี้ขาดข้อมูลเงื่อนไขที่สำคัญ ที่จะทำให้ตัวเลือกที่ 4 เป็นวิธีที่ควรทำมากกว่าวิธีในตัวเลือกที่ 3
การรณรงค์ให้คนไทยบริโภคกุ้งขาวมากขึ้น ในตัวเลือกที่ 3 จึงเป็นวิธีที่นักวิชาการสาขาเศรษฐศาสตร์หลายท่านมีความเห็นตรงกันว่าเหมาะสมกว่า สำหรับโจทย์ที่มีประโยคคำถามตามที่ปรากฏในข้อนี้