กรมปศุสัตว์ เผย มาเลเซียเปิดตลาดรับไข่ไก่ไทยครั้งแรก

กรมปศุสัตว์ เผย มาเลเซียเปิดตลาดรับไข่ไก่ไทยครั้งแรก

View icon 153
วันที่ 28 เม.ย. 2566 | 17.31 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมปศุสัตว์ เผย มาเลเซียอนุญาตการนำเข้าไข่ไก่สดจากประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังจากเพิ่งเจรจาไต้หวันสำเร็จ

กรมปศุสัตว์ เผยข่าวดีอีกครั้ง วันนี้ (28 เม.ย. 66) เมื่อประเทศมาเลเซีย ได้แจ้งอนุญาตการนำเข้าไข่ไก่สดจากประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังจากเพิ่งเจรจาไต้หวันสำเร็จ เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา สำหรับการเจรจากับมาเลเซียในครั้งนี้ จะมีผลทันทีจนถึงวันที่ 30 พ.ค. 66

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หน่วยงาน Department of Veterinary Services (DVS) ของประเทศมาเลเซีย ได้แจ้งอนุญาตการนำเข้าไข่ไก่สดจากประเทศไทยเป็นครั้งแรก
         
สำหรับการเปิดตลาดครั้งนี้ เป็นการเปิดตลาดเป็นกรณีพิเศษ จากข้อกังวลของรัฐบาลมาเลเซียต่อสถานการณ์สินค้าไข่ไก่สดขาดแคลน จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบให้ปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลน จนผู้ผลิตไข่ไก่ในมาเลเซียต้องลดกำลังการผลิตลง ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น อินเดียและศรีลังกา ตั้งแต่เดือนพ.ย. 65
         
ล่าสุด เปิดให้นำเข้าจากประเทศไทย โดยมีผลทันทีและจะมีผลถึงวันที่ 30 พ.ค. 66 และคาดว่ามาเลเซียจะยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าไข่ไก่จากต่างประเทศอีก 6 เดือนนับจากนี้ สำหรับการส่งออกไข่ไก่จากประเทศไทยนั้น ล่าสุดมีผู้ประกอบการไทย ให้ความสนใจส่งออกไข่ไก่ไปมาเลเซียแล้วจำนวน 4 ราย
         
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไข่ไก่ได้ประมาณ 43 ล้านฟองต่อวัน มีการส่งออกประมาณ 1.5 ล้านฟองต่อวัน ซึ่งการเปิดตลาดส่งออกเพิ่มเติมดังกล่าว จะไม่กระทบต่อการบริโภคภายในประเทศอย่างแน่นอน และคาดว่าจากนี้ไป จะมีการเปิดตลาดของไข่สดอีกหลายประเทศเพื่อสร้างตลาดส่งออกใหม่ จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาระดับการผลิตและการบริโภคให้ใกล้เคียงภาวะสมดุลได้อย่างต่อเนื่อง
         
ทั้งนี้ ผลสำเร็จจากการเปิดตลาดการส่งออกไข่ไก่สดเพิ่มในครั้งนี้ มาจากความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย ที่กรมปศุสัตว์กำกับ ดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร ตั้งแต่แหล่งที่มาของสัตว์จากฟาร์มมาตรฐาน GAP จนถึงศูนย์รวบรวมและแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐาน GMP, GHPs และ HACCP สอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎหมายในประเทศ ตามระเบียบของประเทศคู่ค้าและตามหลักสากล