#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด สถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีได้มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนนำเข้าปุ๋ยลดลง ผู้ขอนำเข้ามากขึ้น มีแนวโน้มความต้องการใช้ปุ๋ยประมาณ 4-5 ล้านตัน
กรมวิชาการเกษตรระบุว่ามีการขึ้นทะเบียนนำเข้าไม่น้อยกว่า 15,000 ฉบับ โดยความต้องการปุ๋ยเคมี ใน 4 เดือนแรกของปี 1.2 ล้านตัน และจะมีการทยอยนำเข้าเดือนละ 3 แสนตัน คาดว่าจะมีเอกชนขอนำเข้ามากขึ้นในช่วงกลางปีเป็นต้นไปจนครบตามความต้องการใช้ในภาวะ ทั้งนี้โดยเฉลี่ยความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีของไทยมีประมาณ 4-5 ล้านตันต่อปี ร้อยละ 95 เป็นการนำเข้า คิดเป็นมูลค่านำเข้าประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท โดยมีแม่ปุ๋ย คือ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โปรแตสเซียม ส่วนใหญ่นำเข้าจากตะวันออกกลาง จีน ออสเตรเลีย รัสเซีย แคนาดา และอิตาลี ทางการเกษตรปุ๋ยเคมีมีสัดส่วนการนำไปใช้ในข้าวประมาณร้อยละ 51 ที่เหลือใช้สำหรับพืชเศรษฐกิจหลักอื่นๆ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนไม้ผลมีสัดส่วนการใช้ประมาณร้อยละ 5
แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งระบุว่าได้สถานการณ์ปุ๋ยเคมีได้มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนนำเข้าปุ๋ยลดลงและราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นสารตั้งต้นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน รวมลดลงประมาณร้อยละ 40 ส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศปรับลดลงตามไปด้วย อาทิ ปุ๋ยยูเรีย ราคาเฉลี่ยลดลงร้อยละ 44 แอมโมเนียมซัลเฟตลดลงร้อนละ 37 นอกจากนี้ข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 พบว่าปริมาณสต็อกของปุ๋ยเคมีรวม 1.36 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน
“สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน” เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักสำหรับส่วนผสมปุ๋ยเคมีในตลาดโลก ประกอบกับประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารและความต้องการใช้ปุ๋ยเพื่อผลิตสินค้าเกษตรในตลาดโลก กล่าวคือ ในปี 2564 จีน และอินเดีย มีการสั่งปุ๋ยนำเข้าประเทศเพิ่มขึ้น และไม่มีการส่งออกปุ๋ย ทั้งนี้เพื่อต้องการรักษาความมั่นคงด้านอาหาร แม้ว่าในปีนี้สถานการณ์สงครามยังยืดเยื้อ อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคาปุ๋ยเคมีเริ่มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ไทยมีแหล่งนำเข้าเพิ่มเติมจากตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย ผลกระทบต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อระบบโลจิสติกส์และค่าขนส่งเริ่มลดลง หน่วยงานภาครัฐพร้อมผลักดันการเจรจาการกำหนดราคาแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ร่วมกับประเทศมาเลเซียและจีน ในฐานะผู้ผลิตแม่ปุ๋ยหลักในภูมิภาค ดังนั้นแนวโน้มราคาปุ๋ยปรับเข้ใกล้สู่ภาวะปกติ ประกอบกับกฎระเบียบการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าส่งออกมีความสะดวก ทำให้มีผู้ยื่นขอนำเข้าปุ๋ยมากขึ้นในปีนี้
“แม่ปุ๋ยหลักทดแทนการนำเข้า“ หากไทยมีแหล่งการผลิตปุ๋ยโปแตชในประเทศมากขึ้น จะช่วยลดการนำเข้า ทำให้มีการใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสานและลดการพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานจากต่างประเทศ ประเทศไทยมีโครงการทำเหมืองแร่โปแตช การผลิตและตั้งโรงงานเพื่อที่จะผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ในประเทศไทยจาก 3 แหล่ง คือ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิและอุดรธานี
“สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพช่วยเกษตรกรลดต้นทุนร้อยละ 30” แนวทางการดำเนินงานเพื่อลดต้นทุนของการผลิตในระยะยาว เพื่อให้ใช้ปุ๋ยได้ถูกต้องเหมาะสม และแนะนำปุ๋ยตามการวิเคราะห์ค่าดินในพื้นที่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับสถาบันการศึกษา และสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทยมีการแนะนำเกษตรกรในพื้นที่ว่าควรจะใช้ปุ๋ยสูตรที่เหมาะสมอย่างไร จากตัวเลขสถิติเกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์มากถึง 35 ล้านตันต่อปี และอินทรีย์วัตถุอื่นจากพืชอีกประมาณ 700 ล้านตันต่อปี แสดงให้เห็นว่าถือมีปริมาณเพียงพอในการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ และลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี โดยใช้เรื่องอินทรีย์วัตถุ ชีวภัณฑ์ ชีวภาพ จุลินทรีย์ และอื่น ๆ ที่สามารถที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดูดซึม นอกจากนี้สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรเข้ามาเพิ่ม เช่นการนำโดรนเพื่อการเกษตร ในการให้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง
ตัวอย่าง ปุ๋ยมูลไส้เดือนสำหรับปลูกพืชผัก เป็นปุ๋ยที่มาจากธรรมชาติและไม่มีกลิ่น เป็นอีกหนึ่งวิธีรักษ์โลก ลดขยะจากเศษอาหารได้ด้วย ใช้เวลาเพียงแค่ 30 วันก็ได้ปุ๋ยดีมีคุณภาพ มีข้อดีคือ เหมาะสำหรับบำรุงต้น ราก ใช้ในช่วงที่พืชกำลังเติบโต ใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูกและวัสดุเพาะกล้าพืชได้ ช่วยให้ดินมีโครงสร้างดีขึ้น ระบายน้ำและอากาศได้ดี และเก็บความชื้นได้มากขึ้น ช่วยให้ระบบรากพืชกระจายตัวในดินได้ดีขึ้น จีงถือเป็นการปรับปรุงคุณภาพดิน มีจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตมากมาย ที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ซึ่งไม่สามารถพบได้ในมูลสัตว์หรือปุ๋ยหมักอื่นๆ รวมทั้งมีธาตุอาหารมากมายที่พืชต้องการ และมีฮอร์โมนซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต
แนวโน้มราคาปุ๋ยเคมีลดลง ช่วยลดต้นทุนการผลิตและบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร