หนี้สินทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์

หนี้สินทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์

View icon 147
วันที่ 25 พ.ค. 2566 | 14.53 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด หนี้สินทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ส่วนประเทศเศรษฐกิจใหม่เพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมถึงจีนและอินเดีย

จากข้อมูสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เปิดเผยรายงานหนี้สินทั่วโลกเพิ่มขึ้น 8.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 1 เท่ากับ 305 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเกือบแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์และสูงกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดประมาณ 45 ล้านล้านดอลลาร์  เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตการณ์ของการปรับตัวครั้งใหญ่

ทั้งนี้ธนาคารกลางทั่วโลกได้พากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 เมื่อต้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาไปเป็นที่ระดับร้อยละ 5 - 5.25 ส่งให้เกิดภาวะตึงตัวด้านการปล่อยสินเชื่อ ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น การผิดนัดชำระหนี้อัตราดอกเบี้ย หนี้เสียสูงขึ้น (NPL) เพราะบริษัทไม่มีความสามารถในการทำกำไรทั้งในปัจจุบันและอนาคตมากเพียงพอที่จะชำระหนี้สินที่บริษัทมีได้อีกเป็นเวลานาน

ในไตรมาสแรกของปีนี้ IIF ระบุว่าประเทศที่มีหนี้เพิ่มขึ้น เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย เม็กซิโก บราซิล ตุรกี มีหนี้สินเพิ่มขึ้นรวมกว่ากว่า 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  ส่วนประเทศที่มีรายได้น้อยกว่า 70 ประเทศกำลังเผชิญกับภาระหนี้สินรวม 3.26 แสนล้านดอลลาร์

ผู้นำการเงินการธนาคารในกลุ่มประเทศ G7 ประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และ ญี่ปุ่น ให้ความสำคัญเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด โดยมีความกังวลในเรื่องภาวะหนี้ของสหรัฐอเมริกาที่สูงขึ้น เกิดทางตันเพดานหนี้ (Debt ceiling stalemate) หนี้รวมถึง 30.93 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ข้อมูลจาก Treasury สหรัฐอเมริการะบุว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2019 ถึงปีงบประมาณ 2021 การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19  การลดภาษี โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากภาษีที่ลดลงซึ่งเกิดจากการว่างงานที่แพร่หลายโดยทั่วไปล้วนมีส่วนทำให้หนี้ในประเทศของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ส่วนจีนมีหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสินเชื่อที่จ่ายให้กับรัฐวิสาหกิจในช่วงวิกฤตการเงินโลก รวมทั้งหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น  โดยจีนมีหนี้มากกว่าร้อยละ 250 ของจีดีพี ซึ่งมีผลต่อเสถียรภาพของจีนและกระทบต่อทางเศรษฐกิจของโลกในภาพรวม สำหรับประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี อยู่ที่ร้อยละ 61.14  ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด  กรอบกฎหมายกำหนดไม่เกินร้อยละ 70 ต่อจีดีพี

“ธปท. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เมื่อ 29 มีนาคม 2566 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า และคาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อีกทั้งคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีนี้ โดยจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

“ปัญหาหนี้เสีย” ธปท. มีแนวทางที่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนดังนี้ เร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว พร้อมผลักดันให้มีกฎหมายที่ช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไปต่อไม่ไหวได้เข้ากระบวนการฟื้นฟูหรือขอล้มละลายได้ด้วยตนเอง “หนี้เรื้อรัง” มุ่งแก้ปัญหาที่กลุ่มลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง มีอายุมากและมีปัญหาทางการเงินรุนแรงก่อน สำหรับ “หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็ว” และอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต ธปท. จะออกเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ และกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืนและลูกหนี้ยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย พร้อมผลักดันให้เจ้าหนี้อื่นเห็นพฤติกรรมดีของลูกหนี้ “หนี้ที่ยังไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ครัวเรือน” เช่น หนี้ กยศ. สินเชื่อสหกรณ์อื่น และหนี้นอกระบบ ธปท. จะมีการติดตามข้อมูลให้ครอบคลุมลูกหนี้ต่าง ๆ มากขึ้น และผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลต่าง ๆ ในการประเมินและติดตามสินเชื่อ

ปัญหาหนี้ประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนเศรษฐกิจโลกสู่ภาวะถดถอย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง