เรือหลวงช้าง พร้อมช่วยผู้ประสบภัยทางทะเล วานนี้(29 พฤษภาคม 2566) เมื่อเวลา 13.00 น. พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เดินทางไปเรือหลวงช้าง เพื่อตรวจเยี่ยมการทดสอบขีดความสามารถของเรือหลวงช้าง ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน และหาดยาว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย การทดสอบขีดความสามารถการเคลื่อนกำลังจากเรือสู่ฝั่ง ในการปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และ การทดสอบขีดความสามารถในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และ จัดตั้ง รพ.สนามบนเรือ อีกทั้งการใช้ขีดความสามารถของครัวประจำเรือเพื่อเตรียมอาหารสำหรับผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมกรณีเกิดภัยพิบัติในทะเล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยจากสถิติที่ผ่านมา มักจะเกิดพายุในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนและทางทะเลฝั่งอันดามัน อันอาจจะส่งผลกระทบทำให้เรือต่าง ๆ เกิดปัญหาอับปางในทะเล รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อจังหวัดชายทะเล ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่เกาะต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ที่ถูกตัดขาด (Isolate Area) ซึ่งการให้ความช่วยเหลือจากทางบกไม่สามารถดำเนินการได้ จำเป็นต้องใช้การช่วยเหลือจากทางทะเล (From The Sea) เท่านั้น โดยการทดสอบขีดความสามารถของเรือหลวงช้างในครั้งนี้ ได้บูรณาการกำลังจากหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือประกอบด้วย เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 3 เครื่อง เรือระบายพลขนาดเล็ก LCVP จำนวน 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง LCM จำนวน 2 ลำ และรถโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV)
สำหรับเรือหลวงช้าง เป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ มีขีดความสามารถในการปฏิบัติยุทธการสะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งลำเลียงอีกทั้งเป็นเรือบัญชาการ การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล และพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ รวมทั้งสนับสนุนการช่วยเหลือกู้ภัยเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นภารกิจในการป้องกันประเทศ อีกทั้งยังมีขีดความสามารถในการช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย การอพยพประชาชน สนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเล และท่าเรือ ซึ่งเป็นภารกิจในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งจากคุณลักษณะของเรือ จัดเป็นเรือยกพลขึ้นบกอู่ลอย คือเป็นเรือที่มีอู่อยู่ภายในเรือ โดยคุณลักษณะนี้เองทำให้ เรือหลวงช้าง สามารถบรรทุกเรือระบายพล หรือเล็กประเภทต่าง ๆ ได้ ซึ่งแตกต่าง ๆ จากเรือยกพลขึ้นบกแบบเดิมที่ใช้งาน คือ เรือ LST หรือ เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ซึ่งจะสามารถบรรทุกได้แค่ยานพาหนะ หรือรถประเภทต่าง ๆ เท่านั้น นับเป็นเรือที่มีความทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติในทะเล
เนื่องจากสภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ประเทศไทยที่มี 2 ฝั่งมหาสมุทร ได้แก่ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน มีพื้นที่ทางทะเลมากกว่า 314,000 ตาราง กองทัพเรือได้กำหนดการสร้างความมั่นคงของชาติทางทะเล ตามแนวคิดระดับยุทธศาสตร์ว่า “ปฏิบัติการสองฝั่งมหาสมุทรและสามพื้นที่ปฏิบัติการ” หรือ “Two Oceans and Three Areas (OOAAA)” เรือหลวงช้างจะเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการ ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติในทะเล เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ได้ทั้งสองฝั่งทะเล
เรือหลวงช้าง มีกำลังพลประจำเรือจำนวนทั้งสิ้น 196 นาย โดยมีคุณลักษณะที่สำคัญดังนี้
- ความยาวตลอดลำ 213 เมตร ความกว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 23,000 ตัน มีห้องพัก (Troops) กำลังพล และ/หรือ ผู้ประสบภัย รวมกัน ได้ 600 คน ซึ่งมากกว่าเรือหลวงอ่างทอง ที่บรรทุกได้ 360 คน และ หากต้องปฏิบัติการอพยพ ประชาชนสามารถใช้พื้นที่ในดาดฟ้าบรรทุกรถ จัดพื้นที่รับผู้ประสบภัยได้เพิ่มเติมอีกกว่า 200 คน ทำให้สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เพิ่มขึ้น แต่เรือหลวงช้าง สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ไม่น้อยกว่า 800 คน ซึ่งรองรับจำนวน ได้มากกว่าเรือหลวงอ่างทอง
- สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 23 นอต นั้นหมายถึงใน 1,500 ไมล์ของทะเลไทยนั้น ร.ล.ช้างจะสามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยไกลสุดคือ 1,500 ไมล์ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 วันกว่า หรือ สัตหีบ - เกาะสมุย (200 ไมล์) ใช้เวลาเดินทางเพียง 8 ชั่วโมง และเรือหลวงช้างสามารถปฏิบัติการในทะเลได้ต่อเนื่องที่ไม่น้อยกว่า 45 วัน หรือที่ระยะทาง 8,000 ไมล์ ที่ความเร็วมัธยัสถ์ 18 นอต และที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น ความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ประสบภัย
- เรือหลวงช้าง มีความคงทนทะเลอยู่ที่ Sea State 9 คือ คลื่นสูงมากกว่า 14 เมตร แต่การปฏิบัติภารกิจในสภาวะ Sea State 9 ต้องพิจารณาความปลอดภัย ในการปฏิบัติการซึ่งมีข้อจำกัดของการปฏิบัติการของอากาศยาน และเรือเล็ก ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาของประเทศไทย ได้เกิดพายุขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรง จำนวน 4 ครั้ง ได้แก่ พายุแฮเรียต ในปี 2505 พายุโซนร้อนกำลังแรงลินดา ในปี 2540 (Sea State 9) พายุโซร้อนปลาบึก ในปี 2562 โดยพายุที่รุนแรงที่สุดได้แก่ พายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี 2532 มี Sea State 9 คลื่นสูงมากกว่า 14 เมตร
- เรือหลวงช้าง สามารถบรรทุก รถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 56 คัน หรือ ยานเกราะล้อยาง (MBT) 20 คัน เรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) 6 ลำ หรือ เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) 9 ลำ หรือ ยานเบาะอากาศ (LCAC) จำนวน 2 ลำ นอกจากนั้น ยังสามารถบรรทุกกำลังรบยกพลขึ้นบกพร้อมอุปกรณ์ได้ถึง 650 นาย จะเห็นได้ว่า เรือหลวงช้าง สามารถบรรทุกรถยนต์ประเภทต่าง ๆ รวมทั้ง เรือระบายพล เรือเล็ก ซึ่งจากขีดความสามารถเหล่านี้ ทำให้พิจารณาการลำเลียงยานพาหนะที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติได้หลากหลาย
- ดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ รองรับเฮลิคอปเตอร์ที่ ทร. มีได้ทุกแบบ
- ขีดความสามารถทางการแพทย์ มีห้องปฏิบัติการแพทย์ จำนวน 11 ห้อง เป็นห้องผู้ป่วย 3 ห้อง ส่วนรักษา 8 ห้อง (ห้อง X-ray ห้องทันตกรรม ห้องศัลยกรรม ห้องตรวจโรค ห้องยา ห้อง LAB ห้องฆ่าเชื้อ และห้องผ่าตัด) ซึ่งสามารถรองรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับ 2 บนเรือได้
เรือหลวงช้างมีความพร้อม ในการปฏิบัติภารกิจในการป้องกันประเทศ และสามารถออกเรือในการช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยได้ทันทีทุกพื้นที่ เมื่อได้รับสั่งการ สามารถเข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติการด้วยความรวดเร็ว และสามารถบูรณาการความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ