ปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้อนในแหล่งน้ำจืดและชายฝั่งทะเล

ปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้อนในแหล่งน้ำจืดและชายฝั่งทะเล

View icon 459
วันที่ 31 พ.ค. 2566 | 15.20 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้อนในแหล่งน้ำจืดและชายฝั่งทะเลยังคงเป็นอีกหนึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังแก้ไม่ตก

สถานการณ์การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดบนบก แหล่งน้ำจืดผิวดิน จนถึงปลายน้ำ คือ ทะเลและมหาสมุทร เป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลในออสเตรเลีย ทำการวิจัยหาปริมาณพลาสติกจากแหล่งธรรมชาติสู่วงจรบริโภคของมนุษย์ ในปี 2563 พบว่า มนุษย์อาจบริโภคไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย ในปริมาณกว่า 2,000 ชิ้น หรือ 5 กรัมต่อสัปดาห์ ทั้งนี้พบว่าการปนเปื้อนของพลาสติก และไมโครพลาสติกในมหาสมุทร เกิดจากการทิ้งขยะที่สร้างขึ้นบนบกลงสู่ทะเล คิดเป็นปริมาณมากกว่า 8 พันล้านตันต่อปี โดยเฉลี่ยแล้วคนอาจบริโภคไมโครพลาสติกกว่า 1,769 ชิ้น ต่อสัปดาห์ ที่มาจากการดื่มน้ำ นอกจากนี้คนอาจจะกินไมโครพลาสติกกว่า 182 ชิ้น ต่อสัปดาห์ ผ่านการบริโภคอาหารทะเล

“ไมโครพลาสติกคืออะไร” อ้างอิงจากบทความเรื่องไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำจืดและแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในวารสารสิ่งแวดล้อม  สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2562 สรุปว่า “ไมโครพลาสติก” หมายถึง ชิ้นส่วนของพลาสติก หรือพอลิเมอร์สังเคราะห์ ที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามแหล่งที่มา คือ “ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ” ซึ่งเป็นพลาสติกที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาให้มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น  เม็ดพลาสติก กลิตเตอร์ เม็ดบีดส์หรือไมโครบีดส์ที่เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกาย และ “ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ” ซึ่งเป็นพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของพลาสติกขนาดใหญ่จนกลายเป็นชิ้นส่วน เส้นใย หรือแผ่นฟิล์มของพลาสติกที่มีขนาดเล็กลง

ไมโครพลาสติกสามารถส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ เช่น เป็นตัวกลางนำสารพิษในห่วงโซ่อาหาร มีผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย การทำงานของต่อมไร้ท่อ มีผลกระทบกับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่คอยควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ อาจมีส่วนทำให้ฮอร์โมนเพศชายมีการเปลี่ยนแปลงได้ เด็กมีพัฒนาการลดลง การพัฒนาการทางสมองของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ทำให้ความจำและระบบประสาทลดลง การขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด และไมโครพลาสติกอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็ง

“ปัญหาการปนเปื้อนไมโคพลาสติกในน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทะเล” ไมโครพลาสติกที่พบปนเปื้อนในแหล่งน้ำจืดโดยส่วนมากเป็นประเภทเส้นใย แหล่งที่มาของการปนเปื้อนไมโครพลาสติกนั้นพบว่ามาจากทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน ผลการศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำจืดต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่าชนิดของพลาสติกที่ปนเปื้อนโดยส่วนมากนั้น คือ พลาสติกที่ถูกนำมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ถุงใส่ของ ถุงขนม ขวดและฝาขวดพลาสติก หลอด ไม้จิ้มพลาสติก เป็นต้น อีกทั้งมักพบการปนเปื้อนในปริมาณมากในพื้นที่ชุมชนและน้ำทิ้งจากชุมชน เป็นสาเหตุของการปนเปื้อนไมโครพลาสติกประเภทเส้นใยในแหล่งน้ำ รวมทั้งน้ำเสียที่ปนเปื้อนจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือนนำมาสู่การปนเปื้อนไมโครพลาสติกนี้ยังถูกพบในแหล่งน้ำดิบของน้ำประปาเพื่อการอุปโภคและบริโภคและน้ำประปาที่ผ่านปรับปรุงคุณภาพน้ำแล้ว

“ประเด็นที่น่าเป็นห่วงระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งทะเล” ไมโครพลาสติกปะปนเข้าสู่วรจรห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล ซึ่งเมื่อมนุษย์บริโภคอาหารทะเล ไมโครพลาสติกก็จะเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ในที่สุด นอกเหนือจากการรณรงค์การรีไซเคิลและปรับพฤติกรรมคนลดการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันแล้ว การส่งเสริมจิตอาสาช่วยเก็บขยะตามชายฝั่งทะเลและระบบนิเวศทางทะเลแล้วนั้น  แนวทางอื่นที่ช่วยอีกทางหนึ่ง คือ การติดตั้งทุ่นดักขยะในบริเวณคลองหรือท่อระบายน้ำ โดยใช้ตาข่ายหรือแหดักขยะบริเวณปากแม่น้ำหรือปากคูคลองระบายน้ำเพื่อป้องกันขยะพลาสติกหลุดลงทะเล และการพัฒนาวิธีกรองน้ำเสียครัวเรือนและแหล่งน้ำชุมชนให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึงให้มากที่สุด ทั้งระบบแบบติดกับที่ แบบกลุ่มอาคาร และแบบรวมศูนย์ ปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนของประเทศไทยใช้หลักการทางชีววิทยาแบบใช้ออกซิเจนเป็นหลัก น้ําเสียชุมชนมีปริมาณสารอินทรีย์ปนเปื้อนหลากหลายประเภท มีข้อดี คือ ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายบําบัดน้ำน้อยกว่ากระบวนการบําบัดโดยใข้สารเคมี มีประสิทธิภาพการบําบัดสูงกว่าระบบที่ไม่ใช้ออกซิเจน แต่มีข้อเสีย คือ ต้องเพิ่มขั้นตอนและกระบวนการเติมออกซิเจนลงในน้ําเสียต่อเนื่อง และเกิดตะกอนจุลินทรีย์มาก อีกทั้งไมโครพลาสติกยังเล็กลอดออกไปได้

“นวัตกรรมการกําจัดไมโครพลาสติกในระบบบำบัดน้ำเสีย” นักวิจัยทั่วโลกเร่งหาวิธีกำจัดไมโครพลาสติกจากระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจ เช่น  นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Royal Melbourne Institute of Technology (RMIT) ค้นพบวัสดุที่สามารถกำจัดอนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่าพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำถึง 1,000 เท่า โดยพัฒนาตัวดูดซับจากวัสดุนาโนที่มีแม่เหล็กเป็นส่วนประกอบ เพื่อช่วยดึงดูดอนุภาคพลาสติกในน้ำได้ นอกจากนี้มีนักวิจัยของสหรัฐอเมริกาค้นพบวิธีกำจัดไมโครพลาสติกออกจากน้ำทะเลได้โดยวัสดุที่ทำจากไข่ซึ่งเป็นอาหารเช้าหลักของคนทั่วโลก ศาตราจารย์ Craig Arnold จาก Mechanical and Aerospace Engineering และรองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมของ Princeton University ได้ร่วมกับทีมนักวิจัยในการใช้ไข่ขาวเพื่อสร้างวัสดุชนิดใหม่ที่เรียกว่า aerogel ซึ่งมีน้ำหนักเบาและมีรูพรุน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งการกรองน้ำ กักเก็บพลังงาน และฉนวนกันเสียงและความร้อน เป็นต้น

การกรองน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำชุมชนและทะเลเป็นเรื่องที่จำเป็นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย นักวิจัยเร่งศึกษาค้นคว้าและหาวิธีกำจัดไมโครพลาสติกให้มีประสิทธิภาพ ปัญหาไมโครพลาสติกแทรกซึมในชีวิตประจำวันและมีผลต่อสุขภาพร่างกายของเรา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง