อัจฉริยะ ร้องตั้งกรรมการสอบ อดีต ผบก.ทล.

View icon 20
วันที่ 7 มิ.ย. 2566 | 11.22 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - นายอัจฉริยะ ไปร้อง บก.ปปป. ขอให้ตั้ง คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง อดีตผู้บังคับการตำรวจทางหลวง หลังได้รับข้อมูลว่า มีการปฏิบัติเรื่องเบี้ยเลี้ยงไม่ถูกต้อง จนมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก

อัจฉริยะ ร้องตั้งกรรมการสอบ อดีต ผบก.ทล. 
นาย อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำหลักฐานไปร้องเรียนขอให้ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ บก.ปปป. ตรวจสอบข้อเท็จจริง อดีตผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ที่ปฏิบัติเรื่องเบี้ยเลี้ยงไม่ถูกต้อง มีการหักหัวคิวเบี้ยงเลี้ยงผู้ใต้บังคับบัญชาในสังกัด ทุกเบี้ยเลี้ยง จนมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก

นาย อัจฉริยะ เปิดเผยว่าต้องการให้ พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการ ปปป. รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ตั้งกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะได้รับข้อมูลมาว่า มีการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงเบิกช้า ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ทั้งที่มีการเบิกเงินเบี้ยเลี้ยงมานานแล้ว แต่ไม่จ่าย จนผู้ใต้บังคับบัญชาทั่วประเทศเดือดร้อน ต้องการขอให้ดำเนินคดีอาญาเพิ่ม หลังลงโทษทางวินัยไปแล้ว

ส่วนเรื่องกรณีส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก ให้ข้อมูลว่า จุดเริ่มต้นไม่ได้มาจากตำรวจทางหลวง แต่มาจากสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ก่อนหน้านี้เป็นคนออกสติกเกอร์ดังกล่าว แล้วแบ่งรายได้ให้ตำรวจทางหลวง ก่อนที่ตำรวจทางหลวงจะเริ่มทำสติกเกอร์ขึ้นมาเอง เป็นเหตุให้สมาคมฯ ไม่พอใจ ออกมาแฉ เพราะเสียผลประโยชน์

ส่วนเรื่องการสืบสวนเอาผิดตำรวจทางหลวง ที่เกี่ยวข้องกับส่วยสติกเกอร์ฯ ดังกล่าว พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ เปิดเผยกับ คุณศจี วงศ์อำไพ ในช่วงรายการ สนามข่าว 7สีว่า จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบ มีตำรวจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 10 นายแล้ว ภายในวันพรุ่งนี้จะเริ่มออกคำสั่งเรียกตัวมาช่วยราชการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

โจ่งแจ้ง กรมทางหลวงสอบปม ส่วยสติกเกอร์
ความคืบหน้า กรณีเรียกรับสินบนเจ้าหน้าที่ ด้วยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก เพื่อเปิดทางให้กระทำผิดกฎหมาย วันนี้ นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา ขาเข้าทางหลวงหมายเลข 347 และดูการดำเนินงานและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ดูการทำงานของระบบ WIM และดูหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ เพราะใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามาตรวจจับน้ำหนักตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันมีด่านเปิดใช้งานแล้ว 97 ด่าน และมีแผนจะพัฒนาเพิ่มเป็น 128 ด่านทั่วประเทศ 

เบื้องต้นมั่นใจว่า กระบวนการทำงานอย่างโปร่งใส ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการติดสติกเกอร์ แลกกับการไม่ตรวจชั่งน้ำหนักคงไม่ใช่ เพราะหากรถเข้าด่านแต่มีน้ำหนักเกินกำหนด หากติดสติกเกอร์เครื่องก็ตรวจจับน้ำหนักได้อยู่แล้ว และเมื่อพบว่ามีน้ำหนักเกิน ต้องถูกเรียกปรับตามกฎหมายกำหนด

ทั้งนี้จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ทั้งการตรวจสอบการทำงานของเครื่อง และการทำงานของบุคคลนำกลับมารายงานผลอีกครั้ง 9 มิถุนายนนี้ ซึ่งการเข้าตรวจสอบวันนี้มีกำหนดการออกมาอย่างชัดเจน จะตรวจกี่โมง ที่ไหนอย่างไร แถมยกขบวนสื่อมวลชนเข้าไปร่วมสังเกตุการณ์ด้วย ในโลกออนไลน์ ก็มีการแซว แล้วแบบนี้จะจับผู้กระทำผิดได้หรือไม่ คำตอบหลังตรวจชาวโซเชียลเขารู้กันแล้ว ไม่ต้องแถลงหรอกว่า "ไม่เจอ" หรือ "ไม่พบการกระทำผิด"