ดร.สติธร วิเคราะห์เกมชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ

View icon 106
วันที่ 22 มิ.ย. 2566 | 06.35 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - ท่าทีไม่ยอมรับผลเจรจาของที่ประชุม สส.เพื่อไทย สามารถตีความได้อย่างไร และจะส่งผลอะไรบ้างต่อการเมืองในภาพใหญ่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ว่านี่คือจุดชี้ขาดตั้งรัฐบาลพิธา เพราะถ้าคุยกันไม่ได้ จะส่งผลต่อการโน้มน้าว สว.ในการโหวตเลือก คุณพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

จากตอนแรกที่เหมือนคุยกันลงตัวแล้วเรื่องเก้าอี้ประธานสภาฯ เพราะทั้ง หมอชลน่าน หัวหน้าพรรค, คุณภูมิธรรม และคุณสุทิน รองหัวหน้าพรรค หรือคุณประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ซึ่งก็คือระดับแกนนำพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะยอมถอยเพื่อถอดสลักให้การจัดตั้งรัฐบาลเดินหน้าได้ โดยจะยึดหลักการพรรคอันดับหนึ่งได้ประธานสภาฯ เพื่อไทยได้ 2 เก้าอี้รองประธานสภา แต่หลังการประชุมสัมมนา สส.ของพรรค ดูเหมือนจะใช้วิธีการลงมติพรรค ซึ่งส่วนใหญ่มีท่าทีไม่ยอมยกเก้าอี้นี้ให้ก้าวไกล เป็นบรรยากาศร้อน ๆ ระหว่าง 2 พรรคใหญ่ ในการฟอร์มรัฐบาลใหม่ที่กลับมาเป็นบทสนทนาอีกครั้ง

อาจารย์สติธร มีมุมมองในเรื่องนี้ว่า สามารถมองได้ 2 แบบ แบบหนึ่งอาจเป็นปัญหาภายในเพื่อไทยเอง เกี่ยวกับการต่อรองเก้าอี้ในระหว่างที่หลายอย่างยังไม่ลงตัว หรืออีกประเด็นหนึ่งอาจเป็นเพราะเพื่อไทยมองว่า เสียงที่ได้มามีจำนวนพอที่จะกำหนดความเป็นความตายของรัฐบาลพิธาได้ ทำไมจึงต้องยอมก้าวไกลในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สติธร เชื่อว่าความขัดแย้งรอบนี้มาจากปัจจัยภายในพรรคเพื่อไทยมากกว่า เช่น กลุ่ม สส.ภาคอีสาน ที่มีเสียงค่อนข้างดัง หรือกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งหากมีการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีที่ได้มาอย่างลงตัว ก็จะทำให้ปัญหานี้เคลียร์ได้ เพราะเป็นที่รู้กันว่า พรรคเพื่อไทยมีศูนย์อำนาจชัดเจน ถ้าผู้หลักผู้ใหญ่คนมีบารมีที่พรรคให้ความเคารพออกมาสยบ ก็จะทำให้คนในพรรคยอมกันได้

ทั้งนี้ อาจารย์สติธร ยังมองด้วยว่า ศึกชิงประธานสภาฯ จะเป็นตัวชี้ขาดในการตั้งรัฐบาลพิธาด้วย เพราะจะส่งผลต่อการตัดสินใจต่อ สว. ที่จะโหวตเลือกคุณพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

อาจารย์สติธร ยังมีมุมมองไปถึงรัฐบาลรักษาการในปัจจุบันด้วยว่า ขณะนี้ทั้งพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ค่อนข้างนิ่ง เพราะผลการเลือกตั้งที่ออกมา ทำให้อยู่ในสภาวะที่ความชอบธรรมอยู่กับพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ทางนั้นก็รู้ดีว่า สุดท้ายแล้วก้าวไกลและเพื่อไทย ไม่ได้ลงรอยกันตลอดในทุกสถานการณ์ หรือเป็นคู่แข่งกันในที อีกทั้งผลการเลือกตั้งที่ออกมายิ่งทำให้เพื่อไทยรู้ว่า ก้าวไกล คือคู่แข่งที่แท้จริงในทางการเมือง

ดังนั้น ในสภาวะแบบนี้ จึงนิ่งเพื่อรักษาแนวร่วมของฝั่งตัวเอง รอดูว่า 2 พรรคที่เป็นคู่แข่งกันทางการเมืองจะตั้งรัฐบาลได้จริงหรือไม่ หรือถ้าตั้งได้จะทำงานได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า ดังนั้น การพลิกขั้ว หรือการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง