#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด กรมธุรกิจพลังงานสนับสนุนการใช้น้ำมันมาตรฐานยูโรระดับ 5 ในน้ำมันเบนซินและดีเซลตามอัตราส่วนที่กำหนด เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่ง เริ่มใช้วันที่ 1 มกราคม 2567
กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงานสนับสนุนการใช้น้ำมันมาตรฐานยูโรระดับ 5 โดยน้ำมันเบนซินจะมีการปรับลดปริมาณกำมะถันเป็นไม่สูงกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน (10 ppm) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศลดลงอย่างมาก และน้ำมันดีเซลจะมีการปรับลดปริมาณกำมะถันเป็นไม่สูงกว่า 10 ส่วนในล้านส่วน (10 ppm) และปรับลดปริมาณสาร Polycyclic Aromatic Hydrocarbon (PAH) ไม่สูงกว่า 8% โดยน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยลดการระบายก๊าซไฮโดรคาร์บอนและออกไซด์ของไนโตรเจน
“มาตรฐานน้ำมันยูโร” EUROPEAN EMISSION STANDARDS เป็นมาตรฐานควบคุมการปล่อยมลพิษไอเสียรถยนต์ของกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งได้มีการวางมาตรการในการควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 1992 เพื่อช่วยป้องกันดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ให้มลพิษเกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยเริ่มจาก EURO 1 จนมาถึง EURO 5 และขั้นสูงสุด คือ EURO 6 ประเด็นที่กำลังจะบังคับใช้ในประเทศไทยคือ ยูโรระดับ 5 (Euro 5) เป็นมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำหนดโดยกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป เพื่อวางกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่ง โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จะมีการบังคับให้เป็นมาตรฐานน้ำมันยูโรระดับ 5 ทั้งนี้มาตรฐานยูโรระดับ 4 ยูโรระดับ 5 และ ยูโรระดับ 6 จะมีรายการทดสอบค่าปริมาณสารมลพิษที่เหมือนกัน ส่วนสิ่งที่แตกต่างกันคือปริมาณสารมลพิษจะมีความเข้มงวดขึ้นเป็นลำดับของค่ามาตรฐาน ตัวอย่างการเพิ่มมาตรฐานการวัดจำนวนอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (PN) และกำหนดค่ามาตรฐานออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และสารไฮโดรคาร์บอน (HC) ซึ่งเป็นหนึ่งในสารที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
“ติดตามร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง” มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดประเภทของน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายหน้าสถานีบริการน้ำมัน ทั้งน้ำมันเบนซิน และดีเซล ให้เหลือเกรดมาตรฐานเกรดเดียว โดยน้ำมันดีเซลกรมธุรกิจพลังงานกำลังพิจารณาอยู่ระหว่างชนิดที่มีสัดส่วนผสมไบโอดีเซล B100 ระหว่าง 5-10% แต่จะเลือกสัดส่วนผสมเดียว ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะประกาศให้ B7 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน และ B20 เป็นน้ำมันทางเลือก เพราะตั้งแต่ปี 2567 น้ำมันดีเซลที่ใช้ในประเทศจะต้องเป็นมาตรฐานยุโรประดับ 5 โรงกลั่นน้ำมันก็จะสามารถผลิตได้ก็จะเป็น B7 ส่วน B20 ก็อาจจะขายเป็น Feet ให้กับรถบรรทุก ซึ่งการเลือกชนิดน้ำมันดีเซลขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ และราคาไบโอดีเซล B100 สำหรับน้ำมันเบนซินจะมีทางเลือกการใช้น้ำมัน โดยกรมธุรกิจพลังงานกำลังพิจารณาว่าจะให้ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานหรือไม่ เนื่องจาก E20 มีข้อจำกัดว่าน้ำมันที่นำมาผสมจะต้องเป็น G-Base โดยเฉพาะ ซึ่งต้องวางแผนบริหารจัดการ หากเลือกให้เป็นน้ำมันพื้นฐานแล้ว โรงกลั่นน้ำมันจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปผลิตน้ำมันชนิดอื่นได้ และขึ้นอยู่กับประเภทรถยนต์ หากไม่เลือก E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ก็อาจจะเลือกน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลในอัตรา 10% ซึ่งขณะนี้มีแก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 ก็จะเลือกเพียงชนิดเดียวและยกเลิกอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องติดตามประเด็นนี้ต่อไป
“การวัดปริมาณการปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์” ทางด้านสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมมีการปรับจาก มาตรฐานยูโรระดับ 3 มาเป็น มาตรฐานยูโรระดับ 4 เมื่อปี 2556 และมีแผนปรับจากมาตรฐานยูโร 4 ที่ใช้ในปัจจุบัน มาเป็นการใช้มาตรฐานยูโรระดับ 5 และระดับ 6 ในลำดับต่อไปในปี 2567 นี้ การวัดปริมาณการปล่อยมลมลพิษจากเครื่องยนต์จะเป็นการวัดจากระดับของสารพิษ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนทั้งหมด ไฮโดรคาร์บอนที่ไม่รวมมีเทน ออกไซด์ของไนโตรเจน ไฮโดรคาร์บอนรวมกับออกไซด์ของไนโตรเจน สารมลพิษอนุภาค (PM) และจำนวนอนุภาค (PN) โดยแบ่งตามประเภทและลักษณะของเครื่องยนต์
ปัจจุบันมาตรฐานควบคุมไอเสียของประเทศไทยอยู่ในระดับมาตรฐานยูโร 4 และจะปรับเป็นระดับมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งตรงกับมาตรฐาน มอก.3016-2563 (เบนซิน) มอก.3018-2563 (ดีเซล) และระดับมาตรฐานยูโร 6 ซึ่งตรงกับมาตรฐาน มอก.3017-2563 (เบนซิน) มอก.3019-2563 (ดีเซล) ตามลำดับ ตามผลการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการกำหนดแผนเพื่อบังคับใช้มาตรฐานยูโรระดับ 6 สำหรับผลิตภัณฑ์รถยนต์ใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะได้เตรียมความพร้อมและวางแผนการผลิตรถยนต์ได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดได้และไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ซึ่งการบังคับใช้มาตรฐานยูโรระดับ 5 ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สมอ. มีการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไป 4 มาตรฐาน เพื่อรองรับการควบคุมการปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 และ 6 ดังนี้ “มอก.3016-2563” รถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 9 (มาตรฐานยูโร 5)
“มอก.3017-2563” รถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 10 (มาตรฐานยูโร 6) “มอก.3018-2563” รถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 8 (มาตรฐานยูโร 5)
“มอก.3019-2563” รถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด เฉพาะด้านความปลอดภัย : สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับที่ 9 (มาตรฐานยูโร 6)
ปัญหามลภาวะที่เป็นพิษและฝุ่นละออง PM 2.5 จากรถยนต์เป็นประเด็นที่ประเทศทั่วโลกตื่นตัว รวมทั้งประเทศไทย การบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 และ 6 เป็นหนึ่งแนวทางหลักเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่ง