ขาดอายุความ ไม่ต้องจ่าย "ค่าโง่โฮปเวลล์" เปิดคำพิพากษาศาลปกครองกลาง

ขาดอายุความ ไม่ต้องจ่าย "ค่าโง่โฮปเวลล์" เปิดคำพิพากษาศาลปกครองกลาง

View icon 151
วันที่ 18 ก.ย. 2566 | 16.46 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ขาดอายุความ เปิดคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เพิกถอนคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ คมนาคม-รฟท. ไม่ต้องชดใช้ค่าโง่โฮปเวลล์ กว่า 2 หมื่นล้าน เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องพ้นกำหนดอายุความไปถึง 1 ปี 9 เดือน ทั้งนี้คดียังไม่ถึงที่สุด บ.โฮปเวลล์ฯ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้

คดีค่าโง่โฮปเวลล์ วันนี้ (18 ก.ย.66) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีระหว่างกระทรวงคมนาคม (คค.) ผู้ร้องที่ 1 การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้องที่ 2 กับ บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า ผู้ร้องทั้ง 2 ได้ทำสัญญา ลงวันที่ 9 พ.ย.2533 กับ บ.โฮปเวลล์ฯ ตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครและการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. มีกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่สัญญามีผลบังคับ สัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ หลังจากการลงนามสัญญา คค. และ รฟท. เห็นว่าการก่อสร้างมีความล่าช้ามากไม่อาจแล้วเสร็จตามสัญญา จึงมีหนังสือลงวันที่ 27 ม.ค.2541 บอกเลิกสัญญากับ บ.โฮปเวลล์ฯ โดย บ.โฮปเวลล์ฯ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 ซึ่งในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการต้องยื่นภายในอายุความตามกฎหมาย หรือภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น หรือต้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในวันที่ 30 ม.ค. 2542 แต่ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอข้อพิพาทดังกล่าว

ในระหว่างนั้นมีการตรา พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาใช้บังคับ แทน พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 แต่ก็มิได้กำหนดเวลาในการเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเอาไว้ จึงต้องเป็นไปตามระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง การที่ผู้คัดค้านนำข้อพิพาทตามสัญญามายื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2547 จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 อันเป็น กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทของคณะอนุญาโตตุลาการได้มีการตรา พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2551 โดยมาตรา 4 บัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 51 เดิม และบัญญัติให้การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต้องยื่นฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ทำให้ระยะเวลาการฟ้องคดี เปลี่ยนเป็นภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ส่งผลทำให้ระยะเวลาการยื่นข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ขยายเป็นภายใน 5 ปี ซึ่งในการตีความปัญหาข้อกฎหมายและการปรับใช้ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการนับระยะเวลาคดีนี้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ฉะนั้น จึงไม่อาจใช้วิธีการนับระยะเวลาตามระเบียบอื่นหรือแนวทางการตีความปัญหาข้อกฎหมายเพื่อวินิจฉัยคดีเป็นอย่างอื่นได้

ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2541 จึงมีสิทธิที่จะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 ม.ค.2546 แต่ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2547 จึงพ้นระยะเวลา 5 ปี ไป 1 ปี 9 เดือนเศษ สิทธิเรียกร้องของบ. โฮปเวลล์จึงขาดอายุความตามกฎหมาย การยื่นข้อเรียกร้องแย้งต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2548 ขอให้มีคำชี้ขาดและบังคับให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหายตามข้อพิพาท จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ที่ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเช่นกัน

ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 ทั้งหมด และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค.2551 ทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย.2551 กับให้คำสั่งศาลที่ให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 221 - 223/2562 ไว้ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่เห็นว่า บ. โฮปเวลล์ฯ ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ พ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หมายความว่า ไทยมีลุ้นไม่ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์กว่า 2 หมื่นล้าน ซึ่งกินเวลายาวนาน 33 ปี เนื่องจากคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด บ.โฮปเวลล์ฯ ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก