บช.ก. ประชุมรับโอนคดี กำนันนก

View icon 26
วันที่ 19 ก.ย. 2566 | 05.19 น.
เช้าข่าว 7 สี
แชร์
เช้าข่าว 7 สี - ตำรวจสอบสวนกลาง ประชุมรับโอนคดี "กำนันนก" อยู่นานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนออกมาแถลงสรุปตั้งทีมสืบสวน 11 จากหน่วยงานสอบสวนกลาง นำพยานหลักฐานมาตรวจสอบเพิ่ม ก่อนพิจารณาว่าตำรวจในเหตุการณ์ว่าเข้าข่ายความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

โดยเนื้อหาใจความที่แถลงข่าว สรุปได้ว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จะตั้งทีมสืบสวนที่มาจาก 11 หน่วยงานในสังกัด เข้ามาดูแลทั้ง 2 คดี คือ คดีการเสียชีวิตของ "สารวัตรแบงค์" และการดำเนินคดีกับตำรวจที่ไปร่วมงานเลี้ยงในวันดังกล่าว เนื่องจากเป็นคดีละเอียดอ่อน มีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ส่วนเรื่องการสอบสวนก็ไม่ใช่การรื้อคดีใหม่ทั้งหมด แต่จะดำเนินการต่อเนื่องจากของเดิมที่ตำรวจภูธรภาค 7 ทำไว้ เพียงแต่จะนำพยานหลักฐานทั้งหมด รวมถึงภาพวงจรปิด มาพิจารณาอย่างละเอียด ไล่ดูไปตามข้อเท็จจริง ว่ามีอะไรที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ รวมถึงประเด็นข้อกฎหมาย ก่อนแจ้งข้อกล่าวหา

ส่วนประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเกี่ยวกับกล้องวงจรปิดทั้ง 15 กล้อง ในการแถลงข่าวมีการยืนยันว่ามี 1 กล้อง ที่เป็นจุดสำคัญ แต่กล้องหยุดบันทึกภาพตั้งแต่ 10.00 น. จึงเกิดการสันนิษฐานไว้ 2 ประเด็น คือ เจ้าของบ้านสั่งหยุดเวลาของกล้องไว้ และมีการทำลายพยานหลักฐานหลังเกิดเหตุ แต่หากไม่มีภาพวงจรปิดจุดนี้ ก็ยังมีพยานหลักฐานอื่นที่ใช้ในการดำเนินคดีได้

ส่วนกรณีของ พันตำรวจเอก วชิรา ยาวไทยสงค์ หรือ "ผู้กำกับเบิ้ม" ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ก็มีการพูดถึงคำยืนยันจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ ว่าเห็น ผู้กำกับเบิ้ม เข้าไปอุ้ม "สารวัตรแบงค์" ที่บริเวณข้อเท้า ก่อนจะมีคนเข้าไปอุ้มแทน ประกอบกับมีภาพการนำ "สารวัตรแบงค์" ไปส่งโรงพยาบาล จึงอยากให้สังคมให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียชีวิตด้วย

ด้าน พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันการโอนสำนวนคดีทั้ง 2 คดี ให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เนื่องจากตำรวจสอบสวนกลาง ร้องขอเป็นผู้รับผิดชอบตั้งแต่แรก เพราะตำรวจที่เสียชีวิตอยู่ในสังกัดรับผิดชอบ อีกทั้งที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนได้เข้าไปร่วมเก็บรวบรวมพยานหลักฐานมาแล้วบางส่วน และอยู่ระหว่างการขยายผลว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องอีกหรือไม่ ซึ่งตนก็เห็นชอบด้วยจึงมีคำสั่งให้โอนสำนวนคดี ส่วนเรื่องที่ กำนันนก เคยเป็น "กต.ตร." ภูธรจังหวัดนครปฐม มองว่าจะกลายเป็นบทเรียนสำคัญ ที่หลังจากนี้จะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการเลือกคนมาดำรงตำแหน่งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง