รู้ได้อย่างไรว่าเรามีวินัยทางการเงินขั้นพื้นฐานหรือไม่

รู้ได้อย่างไรว่าเรามีวินัยทางการเงินขั้นพื้นฐานหรือไม่

View icon 80
วันที่ 27 ก.ย. 2566 | 16.17 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย วิธีแก้ไขที่สำคัญ คือ แก้ไขที่ต้นเหตุ นั่นคือ การทำให้เกิดวินัยทางการเงินในระดับครัวเรือน

แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อชะลอการเติบโตของหนี้ครัวเรือนของไทย หรือรัฐบาลมีมาตรการช่วยค่าครองชีพ และเพิ่มรายได้ เช่น การเพิ่มค่าจ้าง หรือแจกเงินให้กับประชาชน แต่ที่ผ่านมา เราก็ยังคงเห็นตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นทุกปี

แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะตั้งกฎเกณฑ์มากมายเพื่อลดโอกาสที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้กับครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูงอยู่เดิม และยังมีการกำหนดการคำนวณดอกเบี้ยของหนี้ที่มีการผิดชำระเพื่อให้มีการคิดดอกเบี้ยที่เป็นธรรมและชะลอการเติบโตของหนี้ แต่ครัวเรือนก็ยังคงสร้างหนี้ใหม่ ระดับหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับที่สูง

นั่นเป็นเพราะการที่บุคคลหนึ่งบุคลคลใดจะสร้างหนี้นั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุที่หลากหลาย บ้างเพื่อนำไปใช้ทำธุรกิจหรือต่อยอดขยายกิจการ บ้างเพื่อหมุนเวียนใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพราะรายได้นั้นไม่เพียงพอกับรายจ่าย บ้างเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่อยากได้อยากมีแม้จะไม่ใช่สิ่งจำเป็น 

#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด มีความเห็นว่า การจะลดหนี้ครัวเรือน ต้องแก้ปัญหาที่ต้นทาง นั่นคือ พฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือน หรือที่เรียกว่ามีวินัยทางการเงิน

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า เรามีวินัยทางการเงินหรือไม่ หรือมีมากน้อยเพียงใด ... วิธีการง่ายๆ ให้เริ่มต้นจากการถามตัวเองด้วยคำถามต่อไปนี้

-ในแต่ละปี คุณรู้หรือไม่ว่า
คุณมีรายรับทั้งปีเท่าไหร่
คุณมีรายจ่ายทั้งปีเท่าไหร่
คุณมีระหว่างรายรับกับรายจ่าย ยอดไหนมากกว่ากัน
คุณมีทุนประกันชีวิต หรือเงินประกันสุขภาพเท่าไหร่
คุณมีเงินลงทุนที่อยู่ในหลักทรัพย์ สินทรัพย์อะไรบ้าง มูลค่ารวมเท่าไหร่
คุณมีเงินออมหรือสลากออมสินเท่าไหร่
คุณมีดอกเบี้ยและผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้เป็นเท่าไหร่ กับดอกเบี้ยที่จ่ายนั้นเท่าไหร่

- ในแต่ละไตรมาส หรือทุกๆ 3 เดือน คุณเคยคำนวณตัวเลขเหล่านี้หรือไม่
รายรับที่ได้มาแล้วมีเท่าไหร่
รายจ่ายที่ใช้ไปเป็นเงินเท่าไหร่
คุณเหลือเงินในบัญชีเท่าไหร่
คุณเหลือเงินในกระเป๋าเท่าไหร่
เงินลงทุนที่ลงทุนไปแล้วในช่วงไตรมาสนี้ ลงทุนอะไรไปบ้าง และเท่าไหร่ มูลค่าของสินทรัพย์ลงทุนก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงไปแล้วเท่าไหร่ในไตรมาสนั้น
และคุณยังมีรายจ่ายที่ต้องจ่ายในไตรมาสที่เหลือของปีอีกเท่าไหร่

- ในแต่ละเดือน คุณเคยลองทบทวนสิ่งเหล่านี้หรือไม่
คุณได้เงินมาจากทางไหนบ้าง
คุณใช้จ่ายอะไรไปบ้าง เท่าไหร่
คุณใช้เงินเท่าไหร่ เป็นสัดส่วนหรือกี่เท่าของรายได้
คุณเก็บออมเดือนนี้ได้ตามเป้าหรือไม่
คุณจ่ายหนี้บัตร หนี้ค่าไฟ/น้ำ/โทรศัทท์/internet ไปเท่าไหร่ จ่ายวันไหน จ่ายครบหรือไม่ ขาดเท่าไหร่ เพราะอะไร

- ในแต่ละสัปดาห์ คุณทำสิ่งเหล่านี้บ้างหรือไม่
คุณเก็บสลิปใบเสร็จที่คุณจ่ายไปบ้างหรือไม่ หรือพอได้ใบเสร็จมา ก็โยนทิ้งทันที
คุณจดบันทึกรายจ่ายกี่ครั้ง
คุณรู้หรือไม่ว่ายอดเงินที่เปลี่ยนไปในบัญชีของคุณในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจากรายจ่ายไหน

- ใน 1 วัน คุณรู้ตัวหรือไม่ว่า
คุณใช้จ่ายอะไรบ้าง จ่ายไปเท่าไหร่
เงินที่คุณจ่ายไปนั้น จ่ายไปกับสิ่งที่จำเป็นหรือไม่

ถ้าอย่างน้อยคุณทำสิ่งที่ต้องทำในแต่ละปีตามที่เขียนไว้ข้างต้น วินัยทางการเงินของคุณก็ไม่ได้แย่นัก

การคอยจดบันทึกหรือทบทวนพฤติกรรมการใช้จ่ายของเราเป็นประจำ จะช่วยเตือนตัวเราเองว่าการใช้จ่ายนั้นเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นหรือเป็นเพียงเพราะความอยากได้อยากมี ในขณะที่จะทำให้เรารู้ว่ารายได้มีเท่าไหร่ รายจ่ายก็ไม่ควรสูงกว่ารายได้ ในที่สุดก็จะปรับพฤติกรรมและลดการสร้างหนี้ของครัวเรือนลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง