หลังประเทศสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า อียู อย่างเป็นทางการมาได้เกือบ 4 ปี #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด วันนี้เรามาดูกันว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเป็นไปตามคำทำนายของเหล่านักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์หรือไม่
ปีนี้เป็นปีที่ 7 หลังการโหวตครั้งประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศสหราชอาณาจักรไปตลอดกาล นั่นคือ Brexit Referendum หรือก็คือการโหวตว่าสหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
ก่อนการเลือกตั้งในปี 2558 พรรคการเมืองของสหราชอาณาจักรบางพรรคพยายามหาเสียงด้วยการยกเอาประเด็นการออกจากการเป็นสมาชิกอียูมาเป็นนโยบาย หนึ่งในพรรคการเมืองนั้น คือ พรรค Conservative ที่ภายหลังก็ได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาล
เพื่อทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ว่าจะให้ประชาชนมีส่วนในการตัดสินใจว่าสหราชอาณาจักรจะออกจากอียูหรือไม่ วันที่ 13 เมษายน 2559 รัฐบาลจึงเสนอต่อสภาให้มีการจัด referendum vote และสภาของประเทศสหราชอาณาจักรก็มีมติให้ประชาชนร่วมกันตัดสินใจว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือไม่ ด้วยการให้โหวตเลือกระหว่าง “Remain อยู่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อ” หรือ “Exit ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป” ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559
ตลอดครึ่งแรกของปี 2559 นักวิชาการทั่วประเทศต่างออกมาเตือนถึงผลกระทบของการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อส่วนรวมมากกว่าการอยู่เป็นสมาชิกต่อ โดยเฉพาะมีการคาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ อาทิเช่น ศาสตราจารย์ Minford แห่งมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟออกมาบอกว่าหากสหราชอาณาจักรหันมาใช้นโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เน้นข้อตกลงแบบทวิภาคีหลังออกจากอียู จะทำให้มีอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศได้รับผลกระทบและมีความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้างมากขึ้น และถ้าไม่ลดภาษีนำเข้า รายได้ของประชาชนในประเทศจะลดลง 2.6% และด้วยอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลง 2.3%
ในปี 2559 ทั้งก่อนและหลังโหวต เหล่านักวิชาการรวมถึงบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับการออกจากอียูของประเทศสหราชอาณาจักร เช่น
- บริษัท Ernst & Young (หนึ่งใน Big 4) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารกลางของอังกฤษ และอาจารย์ในสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลก ต่างคาดว่าประเทศสหราชอาณาจักรจะเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการออกจากอียูจะกระทบโดยตรงต่อธุรกิจและการใช้จ่ายของประเทศในปี 2560 และ 2561 รวมถึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น และมีการหดตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว
- Centre for European Reform คาดว่าการออกจากอียู จะทำให้ขนาดเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรลดลง 2.5% การใช้จ่ายของภาครัฐจะลดลง 2.6 หมื่นล้านปอนด์/ปี
- ศาสตราจารย์ Jonathan Portes แห่งมหาวิทยาลัย King’s College, London ได้ตีพิมพ์บทความในวารสาร Oxford Review of Economic Policy คาดว่าการลดลงของแรงงานต่างชาติจะทำให้ GDP และรายได้ต่อหัวของอังกฤษลดลง
เมื่อผลโหวตออกมาสรุปว่า “ออกจากอียู”
- ดัชนีตลาดหุ้นของอังกฤษตกลงมากกว่า 8% ภายในไม่กี่นาทีหลังเปิดตลาดในวันถัดไป
- ราคาหุ้นของธนาคารใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร 5 ธนาคาร ตกลงโดยเฉลี่ย 21% ในช่วงเช้าของวันถัดไป
- ค่าเงินปอนด์ตกลงจุดต่ำสุดในรอบ 31 ปี เนื่องจากเงินไหลออกภายในคืนเดียวถึง 6 เท่าของปริมาณการโอนปกติ
- ดัชนีตลาดหุ้นทั้งฝั่งอเมริการและยุโรปก็ตกลงด้วยเช่นกัน
สะท้อนความกังวลของนักลงทุนว่าการออกจากอียูของสหราชอาณาจักรจะทำให้มีเม็ดเงินไหลออก ภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินอ่อนลง ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนลดลง และคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเข้าสู่ภาวะถดถอยและมีขนาดเศรษฐกิจลดลง
คราวนี้เรามาดูถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากออกจากอียูมาแล้วเกือบ 4 ปี
CEPR ตีพิมพ์บทความชิ้นหนึ่งของ Portes ซึ่งสรุปผลกระทบทางเศรษฐกิจของการออกจากอียู ที่ปรากฎว่าสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิชาการและศูนย์วิจัยต่างๆ เช่น สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP ลดต่ำลงอย่างมาก ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ต้องนำเข้าจากอียู (หรือนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกอียู) ค่าจ้างที่สูงขึ้นมากในสายการเงิน เมื่อรวมกับตัวเลขการลงทุนลดลง มีการประเมินว่ามูลค่าของผลกระทบทางเศรษฐกิจของการออกจากอียู อยู่ที่ประมาณ 2-6% ของ GDP
งานวิจัยต่าง ๆ ยังพบว่า Brexit ทำให้การส่งออกสินค้าของอังกฤษลดลง และกลุ่มธุรกิจที่โดนผลกระทบมาก คือ ธุรกิจรายย่อย แม้จะมีการอ่อนค่าของเงินปอนด์สเตอร์ลิงจาก 1.9733 USD/GBP ก่อนโหวต (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2559) มาอยู่ที่ 1.30 USD/GBP (ณ วันที่ 24 มกราคม 2563) และอ่อนต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1.2124 USD/GBP (ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2566)
การอ่อนค่าของเงินปอนด์ยังทำให้ดุลการค้าของประเทศสหราชอาณาจักรขาดดุลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ยกเว้นช่วงที่มีการปิดประเทศเพราะการระบาดของโควิด-19) เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการพึ่งพาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภค ที่ค่อนข้างสูง
ในวันที่ 23 กันยายน 2565 อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ Mark Carney ได้ออกมากล่าวว่า “ก่อนโหวต เศรษฐกิจของอังกฤษมีขนาดใหญ่ประมาณ 90% ของขนาดเศรษฐกิจของเยอรมนี แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 70% เท่านั้น”
ดุลการคลังขาดดุลสูงขึ้นต่อเนื่องจนมีสัดส่วนการขาดดุลต่อ GDP ที่ใกล้เคียงกับระดับก่อนโหวต Brexit ในขณะที่หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 80.9% ต่อ GDP ก่อนโหวต มาอยู่ที่ 100.6% ต่อ GDP ในปี 2565
หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากประมาณ 5.5 ล้านล้านปอนด์สเตอร์ลิง ในปี 2558 (ก่อนโหวต) มาอยู่ที่ 7.2 ล้านล้านปอนด์สเตอร์ลิง ณ ไตรมาส 3 ของปี 2566
ในปีนี้ UK in a Changing Europe ทำแบบสำรวจและพบว่า 2 ใน 3 ของประชากรคิดว่าการออกจากอียูได้ทำลายเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร และมีเพียง 1 ใน 5 ของคนที่เคยโหวต “ออกจากการเป็นสมาชิกอียู” ที่ยังเชื่อว่าการออกจากอียูมีผลเชิงบวกต่อประเทศ
หากรัฐบาลประเทศสหราชอาณาจักรรับฟังคำเตือนจากนักเศรษฐศาสตร์ทั้งจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต่างออกมาแสดงความกังวลในวันนั้น ไม่นำเรื่องเข้าสภาเพื่อขอให้มีการโหวตออกจากอียูในเดือนเมษายน 2559 ประเทศสหราชอาณาจักรก็คงไม่เดินมาถึงจุดนี้ จุดที่ทั้งดุลการค้าและดุลการค้าต่างขาดดุล มีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงขึ้น 20% และหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นถึงราว 31 %