ยัน บั้งไฟพญานาค ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์ ชาวบ้านท้า อ.เจษฎา พิสูจน์เดิมพัน 1 ล้านบาท

View icon 7.1K
วันที่ 1 พ.ย. 2566 | 16.53 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ดรามา บั้งไฟพญานาค ลามหนัก ล่าสุดชาวบ้านมีการท้า อาจาร์ยเจษฎา ไปพิสูจน์ความจริงว่า เป็นฝีมือมนุษย์ตามที่ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ โดยมีการวางเงินเดิมพัน 1 ล้านบาท

ยัน บั้งไฟพญานาค ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์ จ.บึงกาฬ
เป็นประเด็นดรามาอยู่ในขณะนี้ ภายหลังมีนักวิชาการหลายคน ตั้งข้อสังเกตเรื่อง "บั้งไฟพญานาค" ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ล่าสุดนายทวี ชินณรงค์ นายอำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ หลังมีการเผยแพร่ข่าวสารว่า ไม่พบเห็น บั้งไฟพญานาค ในพื้นที่อำเภอปากคาด แม้แต่ลูกเดียว

นายทวี นายอำเภอปากคาด ยืนยันว่า ปีนี้มีบั้งไฟพญานาคหลายลูก โดยจุดลานพญานาค เริ่มมีบั้งไฟพญานาคลูกแรก ในเวลาประมาณ 18.40 น. ก่อนจะเว้นระยะ และมีเกิดขึ้นอีกครั้งประมาณ 12 ลูก ตรงจุดหัวดอน เขตติดต่อระหว่างปากคาด และอำเภอรัตนวาปี ตั้งแต่เวลา 20.45 น. เป็นต้นไป

ขณะที่ นายภิรมย์ ยนต์พันธ์ นายกเทศมนตรีตำบลปากคาด ระบุว่า ส่วนตัวเคยเห็นบั้งไฟพญานาค มาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน และตอนที่เห็น ก็มีมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน บางคนเห็นมาเป็น 30-40 ปีแล้ว และมีหลายล้านคนที่เห็นปรากฎการณ์เหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการยิงปืนในฝั่ง สปป.ลาว เหมือนที่นักวิชาการบางคนวิพากษ์วิจารณ์

ท้าเดิมพัน 1 ล้านบาท พิสูจน์ บั้งไฟพญานาค
ด้านนายบุญมา พันดวง คหบดีในบึงกาฬ กล่าวว่า กรณีอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการยิงกระสุนขึ้นฟ้าจากฝั่ง สปป.ลาว ส่วนตัวอยากเชิญนายเจษฎา มาพิสูจน์ความจริงว่า บั้งไฟพญานาคเป็นฝีมือมนุษย์ตามคำกล่าวอ้างหรือไม่ เพราะบั้งไฟพญานาคที่ขึ้นมา มีความแตกต่างจากพลุที่จุด โดยพร้อมวางเงิน 1 ล้านบาท เป็นหลักประกัน หากนายเจษฎา พิสูจน์ได้ตามที่พูด ก็ยินดีจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว

อ.เจษฎา รับคำท้าพิสูจน์ บั้งไฟพญานาค
ไปกันที่อาจารย์เจษฎา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กบางช่วงว่า ชอบไอเดียวิธีการพิสูจน์ "บั้งไฟพญานาค" แต่ไม่ต้องวางเดิมพันเงินรางวัลอะไรกันหรอก แค่ปีหน้าให้ท้องถิ่นมาช่วยกันจัดพิสูจน์เป็นเรื่องเป็นราว เชิญกองทัพสื่อทุกช่อง และผู้สนใจ ไปตั้งกล้องถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอกันเยอะ ๆ จะดีกว่า โดยเลือกจุดที่ลูกไฟขึ้นเยอะ ๆ และแบ่งครึ่งถ่ายฝั่งไทย และลาว พร้อมเอาโดรนบินตรงกลาง เชื่อว่าจะได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ให้ไปศึกษาต่อกันได้อีกเยอะ ปล.ปีหน้าโทรมานัด ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ 

ปิดท้ายที่อาจารย์วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจาร์ยอ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันกล้องถ่ายดิจิทัล ทำให้เห็นชัดเจนว่า มีการใช้กระสุนส่องวิถีเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทั้งหมดจะต้องรอการพิสูจน์ โดยบั้งไฟพญานาค ยังคงเป็นความเชื่อที่ต้องคงไว้ ไม่ควรไปด้อยค่าขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง