ครูอนุบาลเปรียบเหมือนแม่คนที่สองของเด็ก เหนือกว่าให้ความรู้ คือการให้ความรัก เพิ่มความอบอุ่นทางจิตใจ

View icon 131
วันที่ 16 พ.ย. 2566 | 12.37 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีคลิปวิดีโอในโลกออนไลน์ ที่ชาวเน็ตดูแล้วชื่นชมความรักแล่ใส่ใจเด็กนักเรียนของคุณครู คือ น.ส.พัชรินทร์ เอสะตี หรือ ครูอุ้ม เป็นครูอนุบาล โรงเรียนบ้านมะขามทานตะวัน ต.ตาเสา อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ และเป็นผู้ใช้ TikTok ชื่อ “askrooaoomaimpatc” หรือ “ครูอุ้ม” โพสต์คลิปวิดีโอการดูแลเอาใจใส่เด็กนักเรียนหญิงชั้นอนุบาล ที่กำลังร้องไห้เสียใจ

น.ส.พัชรินทร์ หรือ ครูอุ้ม ได้อธิบายเรื่องราวดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากทางโรงเรียนมีกิจกรรมหน้าเสาธงในตอนเช้า และสังเกตเห็นน้องนักเรียนหญิงชั้นอนุบาลมีน้ำตา แต่ก็ยังอดทนทำท่าทางตามกิจกรรมที่โรงเรียนทำ จากนั้นจึงเข้าไปสอบถามว่าเป็นอะไร ทำไมร้องไห้น้ำตาไหล ซึ่งตอนแรกร้องไห้ไม่มีเสียง น้ำตาไหลออกมาเฉยๆ แต่พอครูไปถามก็เกิดการร้องแบบมีเสียงสอึกสะอื้น

โดยน้องบอกว่า อยากใส่เสื้อกันหนาว ไม่มีเสื้อกันหนาวใส่เหมือนเพื่อน อาจเป็นเพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว อากาศเริ่มเย็น และครูก็พูดเรื่องรักษาสุขภาพ เด็กจึงอาจเป็นกังวล ประกอบกับคุณยายหรือคุณแม่อาจจะลืมใส่เสื้อกันหนาวให้น้อง และตอนอยู่ที่บ้านยังไม่หนาว พอมาโรงเรียนแล้วหนาว ขณะที่เพื่อนๆทุกคนพากันใส่เสื้อกันหนาวหมด จึงร้องไห้บอกว่า หนาว อยากใส่เสื้อกันหนาว

จากนั้นครูอุ้มก็ได้ถอดเสื้อกันหนาวให้น้องใส่ บอกว่าไม่เป็นไรเรื่องแค่นี้ เอาของครูไปใส่ได้ ก่อนถามว่าอุ่นหรือยัง ซึ่งน้องก็ตอบว่า อุ่นแล้วค่ะ ต่อมาครูก็กอดน้องเพื่อให้กำลังใจ เพิ่มความรักความอบอุ่นให้น้อง นอกจากนี้ยังย้ำด้วยว่า ครูอนุบาลเปรียบเสมือนแม่คนที่สองของเด็ก เหนือกว่าให้ความรู้ คือการให้ความรัก

สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความประทับใจให้คนที่ได้ดูคลิป ชื่นชมจิตวิญญาณความเป็นครู ที่มอบทั้งความรู้ด้านวิชาการ ทักษะการใช้ชีวิต และยังมอบความรัก ความอบอุ่นให้เด็กนักเรียนอย่างไม่บกพร่อง

ทั้งนี้ ครูอุ้ม คือครูที่เคยโด่งดังจากการไปเยี่ยมบ้านนักเรียน คือ น้องเตย เด็กหญิงวัย 4 ขวบ ที่ขยันกตัญญู อาศัยอยู่กับย่าที่ตาบอดเพียงลำพัง ช่วยดูแลบ้าน ซักผ้า ล้างจานช่วยย่า ซึ่งย่าต้องใช้ไม้เท้าเดินคลำทางไปส่งหลานที่โรงเรียน รวมทั้งขอผ่อนผันเงินค่าประกันชีวิตของหลาน เพราะเงินมีไม่พอ จนครูอุ้มรับดูแลให้ และไปรับไปส่งให้ทุกวัน ก่อนนำเรื่องราวมาโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย กลายเป็นสะพานบุญ มีคนใจบุญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือ กระทั่งชีวิตของน้องเตยกับคุณย่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเหตุการณ์ครั้งนั้นครูอุ้มก็ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก ในฐานะจิตวิญญาณของความเป็นครูผู้มีแต่ให้