หวั่นนโยบายเปิดผับถึงตี 4 เติมคนเมาแล้วขับลงสู่ถนน

หวั่นนโยบายเปิดผับถึงตี 4 เติมคนเมาแล้วขับลงสู่ถนน

View icon 49
วันที่ 16 พ.ย. 2566 | 16.20 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ตายบนถนนเกือบ 50 คน/วัน ใกล้ครบ 2 ปี บิ๊กไบก์ชนหมอกระต่าย คุณแม่เผยครอบครัวยังเจ็บปวด พ่อแม่แก่ชราต้องขึ้นศาลตามหาความยุติธรรมให้ลูก ด้าน สว.หวั่นนโยบายเปิดผับถึงตี 4 เติมคนเมาขับลงสู่ถนน

กิจกรรม TALK…พลังผู้สูญเสียเพื่อการสร้างความปลอดภัยบนถนน เนื่องในวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน  ปี  2566 (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 19  พ.ย. 66

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า จากข้อมูลการบูรณาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ปี 2554-2566 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแล้วกว่า 250,000 คน ยังไม่รวมผู้บาดเจ็บนับล้านคน โดย 4.6% ของผู้บาดเจ็บจะเป็นผู้พิการ ในจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 70% เป็นวัยเด็กและวันทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัว สาเหตุหลักมาจาก ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ไม่เคารพกฎจราจร และดื่มแล้วขับ

“ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ขอส่งเสียงถึงรัฐบาล เกี่ยวกับนโยบายขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตีสี่ โดยจะเชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องมาพูดคุยว่า จะคุ้มค่ากับการเติมผู้ดื่มแล้วขับลงสู่ท้องถนนมากขึ้นหรือไม่ แม้การกระตุ้นเศรษฐกิจจะสำคัญ แต่ประชาชนมีสิทธิใช้ถนนได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าในฐานะคนขับ คนโดยสาร คนเดินเท้า เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายทศวรรษปลอดภัยทางถนน จะต้องลดคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 8,500 คน หรือลดให้เหลือผู้เสียชีวิต 12 คน ต่อประชากรแสนคน ขณะที่ตัวเลขปี 65 ที่มีคนตายจากอุบัติเหตุกว่า 17,000 คน” นายสุรชัยกล่าว
 
นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมอุบัติเหตุทางถนนปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ แต่ยังมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติทางถนนวันละเกือบ 50 คน และมีผู้บาดเจ็บ ผู้พิการจำนวนมาก ยังไม่นับรวมสภาพจิตใจครอบครัวผู้สูญเสียหรือการดูแลผู้ที่ต้องพิการเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ สสส. ร่วมรณรงค์วันเหยื่อโลก โดยเผยแพร่หนังโฆษณา แคมเปญ “#Save สมอง สวมหมวกกันน็อก สมองไม่น็อก” เน้นสื่อสารผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ กับการสวมหมวกนิรภัย เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในไทย ซึ่งมีมากกว่า 20 ล้านคัน” นางก่องกาญจน์ กล่าว

นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล คุณแม่ของคุณหมอกระต่าย พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล เหยื่อถูกรถบิ๊กไบก์ชนเสียชีวิตขณะเดินข้ามถนนบนทางม้าลาย กล่าวว่า ทางม้าลายจำเป็นสำหรับประชาชนในข้ามถนนอย่างปลอดภัย แต่ที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากที่ต้องบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตขณะเดินข้ามทางม้าลายปีละกว่าพันคน ปัญหาหามาจากสภาพถนน การทำสัญลักษณ์ไม่ชัดเจน จำนวนรถที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือพฤติกรรมขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร

คุณแม่ของหมอกระต่าย กล่าวด้วยว่า แม้เหตุการณ์จะผ่านไปเกือบ 2 ปี แต่ครอบครัวเรายังเจ็บปวดแสนสาหัส พ่อกับแม่ก็เริ่มแก่ตัว ร่างกายทรุดโทรมแต่ยังต้องขึ้นศาลเพื่อหาความยุติธรรมให้กับลูก โดยไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนทุกอย่างจะยุติ และมองว่าการที่สังคมไทยตีความอุบัติเหตุบนถนนเป็นการกระทำโดยประมาท สามารถยอมความได้ เป็นการลิดรอนคุณค่าชีวิตของผู้สูญเสีย