อะโวคาโด - ผลไม้สุขภาพที่ใช้น้ำมากในการผลิต – จนเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมในประเทศผู้ผลิต

อะโวคาโด - ผลไม้สุขภาพที่ใช้น้ำมากในการผลิต – จนเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมในประเทศผู้ผลิต

View icon 80
วันที่ 18 พ.ย. 2566 | 08.30 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จะมาคุยเรื่องอะโวคาโด ผลไม้สุขภาพที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก

อะโวคาโดเป็นผลไม้ยอดนิยม เพราะ

1. เต็มไปด้วยวิตามินที่ร่างกายต้องการ เช่น วิตามิน A, B, C, E ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันปากนกกระจอก ลดอาการเหน็บชา ป้องกันหวัดและเลือดออกตามไรฟัน
2. มีธาตุต่างๆ เช่น แมงกานีส แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสี แคลเซียม ซึ่งต่างก็ช่วยลดอาการผมร่วงและบำรุงผิวหนังและเส้นผม
3. แม้จะเป็นผลไม้ที่มีไขมันมากกว่าชนิดอื่น แต่ถ้าเทียบกับกินไขมันประเภทอื่นในปริมาณเท่ากัน เช่น กินอะโวคาโดวันละลูก ไม่ได้ทำให้อ้วน เพราะเป็นไขมันดี แถมยังช่วยลดระดับไขมันเลวหรือ LDL ด้วย

4. มีสารต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยดูดซับแคโรทีนอยด์ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วย จึงช่วยลดริ้วรอยได้ดี
5. มีโปรตีนสูงกว่าพืชชนิดอื่น และมีเส้นใยช่วยในการขับถ่าย
6. อุดมไปด้วย DHA และโฟเลต

ด้วยสรรพคุณและความมันของอะโวคาโด จึงถูกเอาไปใช้ทำน้ำยานวดผมเร่งการงอกของเส้นผม หรือเครื่องสำอางลดการผิวแห้งด้วย
(ที่มา: https://medthai.com/อะโวคาโด/)

ทางภาคเหนือของไทยก็มีการพัฒนาปลูกอะโวคาโด ด้วยความต้องการที่มีมากขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศนั้น จากเทรนด์รักษาสุขภาพและความงามของคนทั่วโลก ทำให้คนไทยได้บริโภคอะโวคาโดที่ผลิตภายในประเทศในราคาที่ถูกลง เมื่อเทียบกับราคาอะโวคาโดนำเข้า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีการนำเข้าอะโวคาโดปีละหลายร้อยล้านบาทต่อปี

ผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ในปี 2565 คือ เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ เปรู สเปน ชิลี ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งของเม๊กซิโก (3.5 พันล้าน USD คิดเป็น 47.6% ของมูลค่าอะโวคาโดในตลาดส่งออกของโลก และคิดเป็นปริมาณกว่าพันล้านกิโลกรัม) และเปรู (894.3 ล้านเหรียญ USD) เนเธอร์แลนด์ส่งออกถึง 905.3 ล้าน USD

ผู้นำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา นำเข้าสูงถึง 3.2 พันล้าน USD ในปี 2565 เพิ่มจาก 1.96 พันล้าน USD ในปี 2562 ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ซึ่งแม้จะถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอะโวคาโด แต่ก็มีการนำเข้าสูงถึง 912.4 ล้าน USD ในปี 2565 เพิ่มจาก 513 ล้าน USD ในปี 2562 ทำให้เนเธอร์แลนด์ยังคงขาดดุลการค้าในตลาดอะโวคาโด ประเทศผู้นำเข้าอันดับ 3 คือ ฝรั่งเศสที่นำเข้าอะโวคาโด 532.17 ล้าน USD ในปี 2565 เพิ่มเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับมูลค่านำเข้า 286 ล้าน USD ในปี 2562  ตามมาด้วยสเปน และ เยอรมนี

ในปี 2562 ประเทศสหราชอาณาจักรเคยเป็นประเทศผู้นำเข้าในอันดับ 3 (นำเข้าอะโวคาโดมูลค่า 227 ล้าน USD) และญี่ปุ่นเป็นอันดับ 4 (196 ล้าน USD) แม้สหราชอาณาจักรจะนำเข้าเพิ่มขึ้นในปี 2565 แต่ก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย มูลค่ารวมยังน้อยกว่าฝรั่งเศส ในขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าลดลงประมาณ 25% เมื่อเทียบกับปี 2562

=====

เรามาดูปัญหาและข้อเสียในการปลูกอะโวคาโดกันบ้าง

1.อะโวคาโดเป็นพืชที่เรียกแมลงได้ดี เพราะต้องมีการออกดอกจึงมีผล นั่นหมายถึงมีการผสมเกสร น้ำหวานจากเกสรจึงดึงดูดให้มีแมลง นอกจากนี้ยังอาจมีการเจาะกินผลของหนอนแมลงด้วย  จึงต้องมีการปลูกที่มีวิธีการลดปัญหาแมลงกัดกินด้วยวิธีทางธรรมชาติ (ที่เปรูและเม็กซิโกใช้ตัวต่อ ที่เนเธอร์แลนด์ใช้การปลูกในที่ปิดล้อม) เพราะการจะส่งผลไม้ไปยังยุโรป หรือ อเมริกา จะต้องไม่มีหรือแทบไม่ใช้สารเคมีในการปลูกหรือกำจัดแมลงเลย

2.อะโวคาโดเป็นพืชที่ใช้น้ำในการเพาะปลูกปริมาณมหาศาล มีการประมาณการว่าการปลูกอะโวคาโด 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำถึง 2 พันลิตร ซึ่งมากกว่าการปลูกส้มถึง 4 เท่า 

การระดมปลูกในฤดูการปลูก โดยเฉพาะในแหล่งต้นน้ำอย่างทางเหนือ อาจจะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแล้งภายในประเทศตามมาในหน้าร้อนได้ หากไม่มีการออกแบบระบบการใช้น้ำหมุนเวียนเพื่อลดปริมาณน้ำที่ใช้ (ประเทศเนเธอร์แลนด์ใช้วิธีนี้ในการปลูก) หรือการวางระบบชลประทานการส่งน้ำเข้าสวนเพื่อลดปริมาณน้ำทิ้ง (ประเทศแทนซาเนียใช้วิธีนี้)

ขอตัวอย่างปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากการปลูกอะโวคาโดที่มากเกินไปและใช้วิธีที่ไม่เหมาะสม

ในประเทศชิลี ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ผู้ผลิตสร้างท่อและบ่อน้ำกักน้ำเองแบบผิดกฎหมาย เพื่อใช้ในการเพาะปลูกที่ต้องการน้ำจำนวนมากเป็นหลายร้อยไร่ ทำให้น้ำในแม่น้ำลดระดับต่ำลงและบางแห่งถึงกับแห้งไป จนชาวบ้านได้รับผลกระทบจากภาวะแล้ง ทำให้ทางตอนเหนือเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวของอะโวคาโด แต่พื้นที่รอบข้างแหล่งปลูกกลับแห้งแล้ง ชุมชนต้องใช้รถบรรทุกที่ไม่สะอาดขนน้ำมาบริโภคอุปโภค และใช้น้ำอย่างประหยัด หรือแม้แต่ซื้อน้ำดื่ม นอกจากนี้ปัญหาสังคมยังทวีความรุนแรงขึ้น มีการลักพาตัวเจ้าของสวน เนื่องจากแต่ละสวนทำรายได้มหาศาล ผู้ผลิตกลายเป็นเศรษฐีท่ามกลางความลำบากยากจนของคนในพื้นที่รอบข้าง

ปัญหาภาวะแล้งยังเกิดในประเทศผู้ผลิตอะโวคาโด อื่นๆ ด้วย การใช้น้ำในการเพาะปลูกจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงให้มากหากต้องการขยายการผลิตในประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง