ข่าวใหญ่ : ชายชาวเยอรมัน ไม่รอด ถูกดำเนินคดีที่บ้านเกิด

View icon 79
วันที่ 5 ธ.ค. 2566 | 11.09 น.
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - แม้จะมีข่าวว่า ชายชาวเยอรมัน ผู้ต้องหาคดีซื้อบริการทางเพศเด็ก อายุ 15 ปี อ้างว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ 1 ล้านบาท แล้วได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ จนมีคนมองว่า กลับไปอยู่ที่เยอรมนีแล้ว สบายแล้ว รอดแล้ว แต่จริง ๆ แล้ว คือ ไม่รอด เพราะกฎหมายเยอรมันระบุชัด พลเมืองเยอรมันที่ไปกระทำผิดอาญาในประเทศอื่น ถ้าเข้ามาในประเทศเยอรมนี จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ก่อนอื่นเราไปดูผลการตรวจสอบของไทยจาก นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยผลการตรวจสอบของ "อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2" ที่ดูแลศาลจังหวัดพัทยา ถึงกรณีที่สำนักข่าว "DW Documentary" ของประเทศเยอรมนี นำเสนอข่าวตีแผ่ด้านมืด เกี่ยวกับการซื้อขายบริการทางเพศเด็กและเยาวชนในไทย อ้างถึงแหล่งข่าว ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีซื้อบริการทางเพศเยาวชนหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ที่ให้ข้อมูลว่า ได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ไทย 1 ล้านบาท แลกกับการปล่อยตัวเดินทางออกนอกประเทศได้ พร้อมกับโชว์เอกสารซึ่งมีตราครุฑที่หัวกระดาษ และคลิปภาพเงินสดใส่ถุงกระดาษ ยืนยันคำกล่าวอ้าง

สรุปได้ว่า พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา นำตัวนายเจน สัญชาติเยอรมัน อายุ 55 ปี ไปยื่นขออำนาจศาลจังหวัดพัทยา ฝากขังครั้งแรก วันที่ 26 กันยายน ปี 2565 ใน 2 ข้อหา คือ กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี จากการล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิง 3 ครั้ง ในคอนโดมิเนียม ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งในการฝากขัง พนักงานสอบสวนไม่ได้คัดค้านการประกันตัว ก่อนที่เพื่อนคนไทยจะนำเงิน 200,000 บาท ไปยื่นขอประกันตัว ศาลพิจารณาแล้วอนุญาต แต่ก็กำหนดเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และให้แจ้ง ตม. ทราบ

ต่อมา 7 พฤศจิกายน นายเจน ยื่นคำร้องต่อศาลขอเดินทางไปประเทศเยอรมนีชั่วคราว โดยอ้างเหตุผลต้องติดต่อธนาคารที่เยอรมนีเพื่อแสดงตัว และขอให้ธนาคารเปิดระบบการเบิกเงินออนไลน์ที่ถูกระงับไป เนื่องจากมีคนพยายามเข้าใช้บัญชี 3 ครั้ง และกิจการขายเสื้อผ้าที่มีหุ้นส่วนอยู่เกิดมีปัญหา จำเป็นต้องไปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง อีกทั้งยังแสดงตัวว่าจะขอต่อสู้คดี พร้อมวางเงินประกันเพิ่มอีก 500,000 บาท ศาลพิเคราะห์คำแล้วเห็นว่า

จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งในไทย มีธุรกิจในไทย มีภริยาเป็นคนไทย และประสงค์จะขอต่อสู้คดี จึงอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ และให้มารายงานตัววันที่ 14 พฤศจิกายน ปี 2565 จากนั้นเมื่อครบกำหนด ทนายความมายื่นขอขยายเวลาไปถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน แต่พอถึงกำหนดนัด ปรากฎเจ้าตัวยังไม่มารายงานตัวอีก ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม สั่งยึดเงินประกัน 700,000 บาท และส่งหนังสือให้ ผบ.ตร. ทราบ วันที่ 2 ธันวาคม

จากนั้น 16 ธันวาคม พนักงานอัยการจังหวัดพัทยา ถึงนำสำนวนคดีมายื่นฟ้อง นายเจน พร้อมคำร้องท้ายฟ้อง ที่ระบุขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการประกันตัว แต่เมื่อศาลตรวจสอบในสารบบแล้ว พบว่า ผู้ต้องหายังหลบหนี ไม่มารายงานตัว จึงออกหมายศาลใหม่อีกรอบ ก่อนจะให้จ่ายคดีออกจากสารบบไว้ก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าจะจับกุมตัวได้เมื่อใด ก่อนที่ศาลจะมีหนังสือไปถึง ผบ.ตร. และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ทราบ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 จึงสรุปว่า ขั้นตอนอยู่ระหว่างรอตำรวจติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี

ส่วน พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ "บิ๊กโจ๊ก" รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ข้อมูลคล้าย ๆ กับที่ศาลมีการชี้แจง พร้อมบอกว่า ยังมีประเด็นที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติมในรายละเอียด ว่าตำรวจในพื้นที่ได้ทำตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติครบถ้วนหรือไม่ ส่วนการติดตามจับกุมตัว นายเจน จะประสานตำรวจสากลอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นความผิดต่อบุคคล ไม่ใช่การทำเป็นขบวนการ และคดีนี้ไม่ใช่คดีค้ามนุษย์ ขณะที่ล่าสุดที่ว่าจะมีการแถลงข่าวชี้แจงวันนี้ ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบไปแล้ว ทราบว่าจะขอเลื่อนการแถลงข่าวไปเป็นวันพรุ่งนี้แทน

ส่วน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เมื่อวานก็โพสต์ถึงเรื่องที่จะมีการแถลงข่าวนี้ เนื้อหาค่อนข้างเผ็ดร้อนไม่แพ้กัน ยาวถึง 10 โพสต์ ใจความหลัก ๆ พูดถึงเรื่องที่สื่อของเยอรมนี ตีแผ่กระบวนการค้ามนุษย์ไทย ปัญหาการติดสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ ถ้า 1.) ค้าบริการเด็ก 2.) จีนเทา 3.) การคอร์รัปชันการรีดไถ และการติดสินบนเจ้าหน้าที่ ไม่แก้ไข จะกลายเป็น ซอฟต์เพาเวอร์ในแง่ลบ ที่ดึงดูด "มาเฟียต่างชาติ" ให้อยากเข้ามาทำธุรกิจสีเทาในไทย และหากผลสอบออกมาว่า "ไม่มี" หรือมีเพียงตำรวจชั้นผู้น้อย ถูกจับมาเป็นแพะรับบาป จะยิ่งทำให้ ตร.ตกต่ำลงไปอีก”

ทีมข่าวได้สอบถามข้อมูลกับเพจ "เยอรมนี มีเรื่องเล่า" ที่นำเสนอเกี่ยวกับข่าวนี้ทางเฟซบุ๊ก ที่ยืนยันว่า มีที่ปรึกษาเป็นนักกฎหมายเยอรมนี ให้ข้อมูลสนับสนุนเพื่อความถูกต้อง

ประเด็นสำคัญ มีการพูดถึงข้อสงสัยของโซเชียลเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในไทย ซึ่งทางเพจอธิบายว่า "เป็นไปไม่ได้" เพราะประเทศเยอรมนี มีรัฐธรรมนูญ มาตรา 16 วงเล็บ 2 ระบุไว้ว่า "ไม่มีพลเมืองเยอรมันคนใดที่จะถูกส่งตัวไปรับโทษที่ประเทศอื่น กฎหมายสามารถให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศสมาชิก EU หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ ก็ต่อเมื่อกระบวนการยุติธรรมนั้นเป็นไปตามหลัก rule of law" และการจะส่งตัวพลเมืองชาวเยอรมัน ไปดำเนินคดี ก็มีอีก 1 เงื่อนไข คือ ประเทศนั้น ต้องเป็นประเทศสมาชิกของ EU ด้วย ซึ่งไทย ไม่ได้เป็นสมาชิกของ EU

แต่ขณะเดียวกัน หากพลเมืองของเยอรมนี ไปกระทำผิดในประเทศอื่น แล้วเดินทางกลับเข้าประเทศเยอรมนี ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมนี กำหนดให้ต้องรับโทษในประเทศเยอรมนี ซึ่งกรณีของ นายเจน ที่กระทำผิด ด้วยการซื้อบริการทางเพศเยาวชนอายุ 15 ปี ในไทย เมื่อนำกฎหมายฉบับนี้มาดู จะพบว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 5 วรรค 8 ความผิดตาม 182 วงเล็บ 2 ฐานซื้อบริการทางเพศเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งตอนแรกที่ นายเจน เดินทางกลับไปถึงประเทศเยอรมนี แล้วยังไม่ถูกดำเนินคดีทันที เพราะทางการเยอรมนี ยังไม่ได้รับการประสานข้อมูลจากทางการไทย แต่พอมีการนำเสนอข่าวสารคดีนี้ออกไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สำนักงานอัยการสูงสุดแฟรงก์เฟิร์ต ก็ได้เข้าไปควบคุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายนี้ทันที เพียงแต่ยังไม่มีข่าวออกมาว่า ศาลมีคำพิพากษาในคดีนี้แล้วหรือไม่

ส่วนที่มีคนตั้งข้อสังเกตเรื่องบทลงโทษ จำคุกสูงสุด 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่เทียบกับ 2 ข้อหา ของไทย กรณีกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โทษจำคุก ตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท และความผิดฐานอนาจารเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วรู้สึกว่าน้อยกว่า อันนี้ทางเพจอธิบายว่า เป็นเรื่องแนวคิดเรื่องการลงโทษไม่เหมือนกัน เพราะหลักการลงโทษของเยอรมนี คือ เพื่อให้แก้ไข ปรับปรุงตัว ไม่ใช่เพื่อให้หลาบจำ การถูกจำกัดอิสรภาพไม่กี่ปี ถือว่าเป็นโทษหนักมากสำหรับคนเยอรมันแล้ว และไม่ใช่ว่าเป็นการสนับสนุนให้คนเยอรมันไปกระทำผิดแล้วหนีคดี

ทีมข่าวสอบถามเรื่องนี้กับทาง นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า จากการตรวจสอบ พบว่าไทยไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศเยอมนีจริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่กันได้เลย เพราะจากการสอบถามกับอดีตอธิบดีที่ดูแลด้านงานต่างประเทศ ก็ยืนยันว่าที่ผ่านมาไทยเคยมีการแลกเปลี่ยนตัวผู้ต้องหากับประเทศเยอรมนีกันอยู่บ้าง เพียงแต่จำรายละเอียดไม่ได้ว่ามีคดีไหนบ้าง โดยใช้วิธีขอความร่วมมือระหว่างกันในทางการทูต โดยมีหลักสากลในการปฏิบัติ จะต้องไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษถึงประหารชีวิต เป็นความผิดทางกฎหมายอาญาที่ทั้ง 2 ประเทศ มีกฎหมายกำหนดตรงกัน ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง และไม่ใช่การลี้ภัยทางการเมือง

ขอบคุณภาพจาก : เยอรมนี มีเรื่องเล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง