ดีเอสไอ ส่งสำนวน ป.ป.ช. ฟัน 2 จนท.รัฐเอี่ยวนำเข้าหมูเถื่อน

ดีเอสไอ ส่งสำนวน ป.ป.ช. ฟัน 2 จนท.รัฐเอี่ยวนำเข้าหมูเถื่อน

View icon 58
วันที่ 8 ธ.ค. 2566 | 19.25 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ดีเอสไอ ส่งสำนวน ป.ป.ช. ฟัน 2 เจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยวนำเข้าหมูเถื่อน 161 ตู้ ขณะที่ขยายผลเส้นทางการเงินโยงเจ้าหน้าที่อีก 2 หน่วยงานรัฐ จ่อเชือดคิวถัดไป 

วันนี้ (8 ธ.ค.66) พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงความคืบหน้าคดีนำเข้าหมูเถื่อนว่า คดีนี้ดีเอสไอได้แยกดำเนินการเป็น 2 ช่วง รวม 10 คดี คือ ช่วงที่ 1 คดีพิเศษที่ 59/2566 เป็นคดีเริ่มต้นของดีเอสไอ กรณีตรวจพบตู้สินค้าเป็นสุกรแช่แข็งตกค้างในท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 161 ตู้ หนักประมาณ 4.5 ล้านกิโลกรัม ทางการสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาแล้ว 2 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 แล้ว อันเป็นการดำเนินการเฉพาะส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ช่วงที่ 2 เป็นการดำเนินคดีกับเอกชนที่ปรากฏหลักฐานว่านำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วยคดีพิเศษที่ 101-109/2566 ซึ่งมีการสืบสวนสอบสวนต่อเนื่องทุกคดี พบหลักฐานน่าเชื่อว่ามีการลักลอบนำเข้าซากสุกรอีกจำนวน 2,385 ตู้ ปริมาณ 59,625 ตัน โดยมี 2 คดีเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ 2 หน่วยงาน หลังพบหลักฐานเส้นทางการเงินและขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ก่อนส่งสำนวน ป.ป.ช. ในขั้นตอนไป

ล่าสุด วานนี้ (7 ธ.ค.66) ภายใต้คดีพิเศษที่ 103/2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นเป้าหมาย จำนวน 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม มีการตรวจยึดสิ่งของไว้เป็นพยานหลักฐาน รวมทั้งพบการกระทำผิดซึ่งหน้า 1 จุด เป็นบริษัทประกอบธุรกิจห้องเย็น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลทุ่งน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ตรวจพบซากสุกร (หมูสามชั้น) จำนวน 7 ตัน ไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐมได้ดำเนินการตรวจยึดซากสุกรดังกล่าวเพื่อส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสามควายเผือกดำเนินคดีต่อไป เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครปฐม เป็นพื้นที่ประกาศควบคุมโรคอหิวาตกโรคในสุกร (ห้ามไม่ให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ในเขตห้ามเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาต) อันเป็นการป้องกันเหตุไม่ให้พี่น้องประชาชนต้องบริโภคหมูที่ไม่ถูกสุขลักษณะด้วย

“ทั้งนี้ จากเอกสารของทางบริษัทห้องเย็นแห่งนี้ มีชิ้นส่วนสุกรเข้ามาแช่เข็งจำนวน 253 ตัน ถูกนำออกไปจากระบบแล้ว 114 ตัน ยังคงเหลืออยู่ที่โรงแช่เย็นจำนวน 84 ตัน ส่วนที่เหลืออีก 55 ตัน ไม่มีระบุในเอกสาร ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งตรวจสอบว่าเนื้อส่วนนี้หายไปไหน ล่าสุดปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม ร่วมกับดีเอสไอ เข้าตรวจสอบอีกครั้ง พบเนื้อหมูตกค้างในบริษัท 61 ตัน ซึ่งยังคงต้องตรวจสอบต่อไป”

และหลังจากนี้ ดีเอสไอจะเรียก 4 กรรมการตัวแทนบริษัทกลุ่ม จ.นครปฐม มาสอบปากคำเพิ่มเติม เพราะพบว่ามีกลุ่มสุดท้ายที่จะขยายผลเป็นผู้โอนเงินมาให้ ก่อนกลุ่มบริษัท จ.นครปฐม โอนไปยังบริษัทสองพ่อลูก และโอนต่อบริษัทชิปปิง  ก่อนโอนเงินต่อไปต่างประเทศ รวมถึงพบความผิดปกติที่กลุ่มบริษัท จ.นครปฐม มีใบเคลื่อนย้าย จำนวน 3 ชุด ซึ่งมากกว่าผิดปกติ

สำหรับการยึดทรัพย์ในคดีนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 53 ล้านบาท และในสัปดาห์หน้าจะมีการยึดทรัพย์เพิ่มเติม ส่วนการดำเนินคดีนั้นจะมีทั้งในส่วนของตู้คอนเทรนเนอร์เย็นที่อยู่ในความดูแลของกรมศุลกากร และห้องเย็นของเอกชนที่อยู่ในความดูแลของกรมปศุสัตว์