สินเชื่อยานยนต์มีหนี้เสียร่วม 2 แสนล้านบาท

สินเชื่อยานยนต์มีหนี้เสียร่วม 2 แสนล้านบาท

View icon 73
วันที่ 10 ธ.ค. 2566 | 09.29 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เศรษฐศาสตร์ตลาดสด สรุปภาวะเปราะบางของหนี้ครัวเรือน หนี้เสียเพิ่ม 2 หมื่นล้านบาท ภายในเวลาเพียง 3 เดือน

หนี้ครัวเรือนมีมูลค่าสูงถึง 13.5 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 3 ปี 2566 (เพิ่มขึ้น 3.8 % เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) โดยมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 2.58 ล้านล้านบาท ( 31.7 ล้านบัญชี ) หนี้รถยนต์ 2.61 ล้านล้านบาท ( 6.5 ล้านบัญชี ) และหนี้บัตรเครดิต 5.46 แสนล้านบาท ( 23.8 ล้านใบ ) ทั้งนี้ ไม่รวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ 2 ล้านล้านบาท และหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ( กยศ. ) อีก 5 แสนล้านบาท

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ( เครดิตบูโร ) เปิดเผยว่า ในระบบการเงินมีลูกหนี้ 10 ล้านบัญชีที่ถูกจัดเป็นหนี้เสีย คิดเป็นมูลค่าหนี้เสียทั้งสิ้น 1.05 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 7.7 % ของสินเชื่อรวม และธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า ตัวเลขหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2566 มีมูลค่ารวมอยู่ประมาณ 4.9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ประมาณ 2 พันล้านบาท นั่นหมายถึงหนี้เสียส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 เกิดขึ้นในกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์

หนี้เสียรถยนต์มีถึง 6.94 แสนบัญชี เพิ่มขึ้น 8.6 % จากไตรมาส 3 ปี 2565 และมีมูลค่ารวม 2.07 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.9 % จากไตรมาส 3 ปี 2565

ในขณะที่หนี้ค้างชำระ 30-90 วัน มีอยู่ 5 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.95 ล้านบัญชี โดยมูลค่าหนี้ประมาณ 42.6 % ของหนี้ที่ต้องติดตามนี้เป็นหนี้รถยนต์ ( 2.13 แสนล้านบาท ) รวม 5.6 แสนบัญชี ( 28.7 % ของจำนวนบัญชีหนี้ที่ต้องติดตาม ) และอีก 27.2 % เป็นหนี้บ้าน (1.36 แสนล้านบาท) รวม 1.05 แสนบัญชี

นั่นหมายถึง หนี้ที่มีการค้างชำระแต่ยังไม่เป็นหนี้เสียราว 70 % เป็นหนี้ครัวเรือนหรือสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค และส่วนใหญ่เป็นหนี้รถยนต์ โดยในปีที่แล้วมีการยึดรถเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 คันต่อเดือน แต่ปีนี้มีการยึดรถเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 25,000-30,000 คันต่อเดือน

นอกจากนี้ ยังมีหนี้ที่ปรับโครงสร้าง 9.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 7.3 % ของสินเชื่อรวม โดยอาจมีการปรับโครงสร้างในปีนี้มากถึง 1 ล้านล้านบาท เพราะปีนี้เป็นปีสุดท้ายของมาตรการช่วยเหลือฟ้า-ส้มของ ธปท.

หนี้อ่อนแอที่เกิดเพราะโควิด ยังมีอยู่ในระบบทั้งสิ้น 3.9 แสนล้านบาท ( 3.5 ล้านบัญชี ) ในกลุ่มนี้มีสินเชื่อบุคคล 9.2 หมื่นล้านบาท จำนวน 3.18 ล้านบัญชี สินเชื่อรถยนต์ 3.9 หมื่นล้านบาท จำนวน 8.8 หมื่นบัญชี และประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนบัญชีหนี้อ่อนแอในกลุ่มนี้อยู่กับธนาคารพาณิชย์ 1.1 แสนล้านบาท ( 5.23 แสนบัญชี ) แต่ถ้ามองในมุมมูลค่าหนี้ ส่วนใหญ่อยู่กับธนาคารของรัฐ โดยมีมูลค่าหนี้อยู่ 1.89 แสนล้านบาท ( 48.5% ) 2.96 ล้านบัญชี ( 84.6% ) 

กลุ่มที่ควรเฝ้าระวังคือ
1. สินเชื่อยานยนต์ที่หนี้เสียพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้
2. สินเชื่อบ้านที่แม้จะมียอดหนี้เสียลดลงในไตรมาส 3 แต่มีหนี้ค้างชำระเพิ่มสูงถึง 37.2 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า
3. หนี้อ่อนแอที่อยู่กับธนาคารของรัฐ ที่มีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง