เริ่มแล้ว มหกรรมแก้หนี้ทั้งระบบ ลดแหลกทั้งต้น ทั้งดอก ลดกระทั่งค่าปรับ

เริ่มแล้ว มหกรรมแก้หนี้ทั้งระบบ ลดแหลกทั้งต้น ทั้งดอก ลดกระทั่งค่าปรับ

View icon 52
วันที่ 12 ธ.ค. 2566 | 16.25 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ข่าวดีลูกหนี้ ข้าราชการ เกษตรกร SMEs  เช่าซื้อ บัตรเครดิต ได้ลืมตาอ้าปาก “นายกฯ” ประกาศลั่น ลดต้น ลดดอก ลดค่าปรับ ยืดเวลา จัดเต็มทุกกลุ่ม หวังคนไทยหมดหนี้รัฐบาลนี้

วันนี้ (12 ธ.ค.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดทำเนียบรัฐบาล แถลงข่าวการจัดการหนี้ทั้งระบบ หลังจาก ประกาศวาระแห่งชาติแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา วันนี้เป็นการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ในระบบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

1. ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 3,000,000 ราย มีแนวทางช่วยเหลือ คือ  ยกเลิกสถานะหนี้เสีย (NPL) พักชำระหนี้ ลูกหนี้รายย่อย และ ปรับโครงสร้างหนี้ SMEs 1 ปี ลดดอกเบี้ย 1% เช่น

"กลุ่ม SMEs" จำนวนกว่า 100,000 ราย สถาบันการเงินของรัฐ จะเข้าไปช่วยเหลือ ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แล้วพักชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงก็รัฐ ทั้งแบบบุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล เป็นเวลา 1 ปี

"ลูกหนี้รายย่อย" จำนวน 1.1ล้านราย  ส่วนใหญ่ มีหนี้เสียกับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. แนวทางแก้ปัญหา ให้ธนาคารติดตามทวงหนี้ตามสมควร และ ให้ความช่วยเหลือไม่ให้เป็นหนี้เสียอีกต่อไป

2. กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมาก แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

"กลุ่มข้าราชการ ครู บุคลากร ทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร" ที่มักมีหนี้กับสถาบันการเงิน จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทาง ดังนี้
- ลดดอกเบี้ยสินเชื่อ
- โอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ที่เดียว เช่น สหกรณ์ เพื่อหักเงินเดือนมาชำระหนี้ได้สะดวกและสอดคล้องกับภาระของลูกหนี้
- บังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ

ข้อมูลเพิ่มเติม : กรณีครูมีจำนวนผู้เป็นหนี้ ประมาณ  900,000 ราย ได้รับการดูแลด้านสินเชื่อจากธนาคารออมสิน ดังนั้น ข้าราชการอื่น ที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน สามารถติดต่อขอสินเชื่อดังเช่นกรณีนี้

"กลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล" หากเป็นหนี้เสีย สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ บริษัทบัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมด ช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้าง มาทำตารางผ่อนชำระใหม่ ให้ยาวถึง 10 ปี โดยลดดอกเบี้ยจาก 16-25% เหลือ 3-5% ต่อปี

3. กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน เช่นเกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้ กยศ. จะได้รับความช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้ชั่วคราว ลดดอกเบี้ย ลดเงินผ่อนชำระแต่ละงวดให้ต่ำลง เช่น
"ลูกหนี้เกษตรกร" จำนวนประมาณ 2 ล้านคน  จะได้รับการพักชำระหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นเวลา 3 ปี มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 1.5 ล้านราย
"ลูกหนี้ กยศ." จำนวน 2.3 ล้านราย จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย ลดเบี้ยปรับ เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ และ ยกเลิกผู้ค้ำประกัน

"ลูกหนี้เช่าซื้อ รถยนต์/รถจักรยานยนต์" กรณีเช่าซื้อรถใหม่ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 10% ต่อปี กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกิน 23 %ต่อปี ลดดอกเบี้ยผิดนัดให้ต่ำลง และ ให้ส่วนลดหากลูกหนี้ปิดบัญชีได้ก่อนกำหนด

4. กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นเวลานาน (NPLs) จำนวน 3 ล้านราย จะถูกโอนไปยัง บริษัท บริษัทร่วมทุน ระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้การบริหารจัดการที่คล่องตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี คาดหวังว่าจะได้รับความร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และ ประชาชน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ คลิกที่นี่