เตือนภัย อยู่บ้านต้องล็อกประตู ป้องกันเหตุร้ายบุกประชิดถึงบ้าน

View icon 85
วันที่ 20 ธ.ค. 2566 | 07.07 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - เตือนเก่งอีกแล้วทีมงานของเรา หรือจริง ๆ แล้วมีภัยร้ายเกิดบ่อยขึ้นกันแน่ รอบนี้เป็นภัยคนอยู่บ้าน ที่สาวเจ้าของบ้านรอดอันตรายได้หวุดหวิด หลังจู่ ๆ มีใครไม่รู้เดินมาในสภาพเมาแอ๋ พยายามจะเปิดประตู เพื่อเข้าสู่ภายในบ้าน แต่ทำไมถึงรอดได้ เดี๋ยวไปดูคลิปเหตุการณ์กันก่อน

เตือนภัย อยู่บ้านต้องล็อกประตู ป้องกันเหตุร้ายบุกประชิดถึงบ้าน
เดินเซแซ่ด ๆ เป็นซอมบีเลย สำหรับชายวัยกลางคน ที่จู่ ๆ ก็มาประชิดเกาะประตูกระจก พยายามจะเปิดบ้านคนอื่น สร้างความหวาดผวาให้เจ้าของบ้านที่ตะโกนถามกันวุ่นว่า "มาทำอะไร" และพยายามไล่ให้ออกไป

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่บ้านของนางสาวณัฐชนก ทวีสินสุพรรณ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งวันเกิดเหตุยังไม่ดึก เกือบ 22.00 น. และยังเคราะห์ดีที่บังเอิญแฟนอยู่บ้านด้วย จึงรับมือภัยนี้ได้

ที่สำคัญต้องย้ำว่า ที่เราเห็นว่าชายคนดังกล่าวเข้ามาแบบนี้ จริง ๆ แล้ว วันนั้นประตูรั้วปิดไว้ ไม่ได้เปิดอ้าซ่าอย่างในคลิป เพียงแต่ไม่ได้ล็อกแม่กุญแจ ทำให้ชายคนดังกล่าวถือวิสาสะเปิดรั้วบ้านเข้ามาเอง และเกิดเหตุอย่างที่เห็นในคลิป แต่ประตูบ้านเป็นระบบล็อกอัตโนมัติ ทำให้ชายคนก่อเหตุเปิดประตูเข้ามาไม่ได้

เจ้าของบ้านบอกเป็นห่วงผู้หญิง คนแก่ และเด็ก ที่อาจมีช่วงเวลาอยู่บ้านคนเดียว แล้วเผลอไม่ได้ล็อกประตู หลังเกิดเหตุก็ควานหาตัวผู้ก่อเหตุ หรือติดต่อมาเพื่อขอโทษ พร้อมอยากเตือนภัยไว้ให้ระวังเพิ่ม เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

จากภัยจวนตัวนี้ ทำให้นึกถึงคดีนิสิตสาวปริญญาเอก พลัดตกแมนชันเสียชีวิต ด้วยความตื่นตกใจกลัวคนที่มาเคาะประตู ตัดสินใจปีนระเบียงหนี ก็เกิดคำถาม ถ้าเราเจอบ้างจะรับมือให้เกิดความปลอดภัยได้อย่างไร

นักอาชญาวิทยา แนะวิธีรับมือภัยจวนตัวห่างไกลอันตราย ตั้งสติ-โทร.แจ้งตำรวจ-ตะโกนขอความช่วยเหลือ-ซ่อนตัว
ทีมข่าวสอบถามกับ นักอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า ถ้าเจอเหตุร้ายประชิดถึงหน้าบ้าน อันดับแรกต้องตั้งสติให้ดี ไม่ตื่นตกใจจนเกินไป จากนั้นรีบแจ้งตำรวจ คนใกล้ชิด และส่งเสียงตะโกนขอความช่วยเหลือ เพื่อให้เพื่อนบ้านได้ยิน เพราะเสียงนี้จะสร้างความตกใจให้ผู้ก่อเหตุ อาจนำไปสู่การหยุดพฤติกรรมแล้วหนีไปได้

อาจารย์กฤษณพงค์ ย้ำด้วยว่า ถ้าผู้ประสบเหตุอยู่หอพักที่เป็นอาคารสูง และอาจคิดว่าจะใช้วิธีปีนระเบียง ขอให้ประเมินความปลอดภัยของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าดูแล้วอันตราย อย่าใช้วิธีนี้เด็ดขาด ส่วนเจ้าของหอพัก ก็ควรมีมาตรการป้องกันอันตรายให้ลูกบ้าน อาทิ กำหนดระเบียบการเข้า-ออก, มียามเดินตรวจตรา และมีเบอร์โทรศัพท์ไว้ให้ติดต่อยามเกิดเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง