ประชากรลด – เศรษฐกิจไทยไม่อาจรอเด็กเกิดใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน

ประชากรลด – เศรษฐกิจไทยไม่อาจรอเด็กเกิดใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน

View icon 251
วันที่ 21 ม.ค. 2567 | 09.08 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ขอเสนอว่า หากประเทศไทยต้องการเพิ่มกำลังแรงงาน อาจขยายอายุการทำงานไปถึง 65 ปี แทนการเร่งอัตราการเกิดของประชากร เนื่องจากประชากรเกิดใหม่จะต้องรออย่างน้อย 18-25 ปี จึงจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งอาจไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาตลาดแรงงานที่กำลังจะต้องเผชิญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ใน 10 เดือนแรกของปี 2566 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 433,030 คน ในขณะที่มีจำนวนคนตายถึง 472,546 คน ทำให้ประชากรไทย ณ เดือนตุลาคม ปี 2566 ลดลง 37,516 คน จาก 66.09 ล้านคนในปี 2565

โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 ประชากรไทยมีเพศชาย 32.27 ล้านคน และเพศหญิง 33.82 ล้านคน มีสัญชาติไทย 64.87 ล้านคน

Generation Alpha ผู้ที่เกิดหลังปี 2555 11.28% และ Generation Z ผู้ที่เกิดปี 2540-2555 มีสัดส่วน 20.23% (สัญชาติไทยรวม 2 Generation คิดเป็นสัดส่วนของประชากรอยู่ที่ 31.42%)
Generation Y ผู้ที่เกิดปี 2524-2539 มีสัดส่วน 23.25% (สัญชาติไทย 23.26%)
Generation X ผู้ที่เกิดปี 2508-2523 มีสัดส่วน 24.65% (สัญชาติไทย 24.71%)
Baby Boomer ผู้ที่เกิดปี 2489-2507 มีสัดส่วน 17.07% (สัญชาติไทย 17.13%)
ก่อน Baby Boomer: ผู้ที่เกิดก่อนปี 2488 มีสัดส่วน 3.52% (สัญชาติไทย 3.48%)

จากสถิตินี้แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนผู้มีสัญชาติอื่นอาศัยในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มก่อน Baby Boomer มีผู้มีสัญชาติอื่นเพียงประมาณ 6 หมื่นคน แต่ในกลุ่ม Generation Alpha และ Generation Z รวมกันมีถึง 3.7 แสนคน

ตัวเลขจำนวนประชากรที่มีสัญชาติไทย ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 (อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน) อยู่ที่ 65,066,812 คน ลดลง 39,669 คน จาก 65,106,481 คน ณ สิ้นปี 2565 และมีประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยเพิ่มจาก 983,994 คน ณ สิ้นปี 2565 เป็น 991,155 คน

สถิติตัวเลข ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวนผู้เกิดใหม่อยู่ถึงกว่า 4.6 หมื่นคน ภายในเวลา 11 เดือน

จากตัวเลขสถิติแรงงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ สิ้นปี 2565 ประเทศไทยมีกำลังแรงงานอยู่ประมาณ 40 ล้านคน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 สัดส่วนแรงงานต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 62% ในขณะที่มีผู้มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี มีอยู่ 43.7 ล้านคน ณ สิ้นปี 2565 และมีผู้มีอายุระหว่าง 61-65 ปีอยู่ 3.9 ล้านคน

ใน 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม Gen Z ที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่า Gen อื่น เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในขณะที่ Gen Baby Boom อยู่ในอายุเกษียณในปีนี้เป็นปีสุดท้าย หรือก็คือ ในปีหน้าจะมีคนที่อยู่ในวัยหลังเกษียณ 20.59%

กำลังแรงงานจะหายไปจากระบบราว 9.1 แสนคนในปี 2567 เนื่องจากเกษียณอายุที่ 60 ปี แต่มีแรงงานที่เข้ามาใหม่เพียง 7.9 แสนคน และส่วนต่างระหว่างกำลังแรงงานที่หายไปกับแรงงานเข้าใหม่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากประเทศอยู่ในสถานการณ์นี้อีกแค่ 10 ปี จะมีกำลังแรงงานหายไปจากตลาดรวมราว 3 ล้านคน

กองทุนประกันสังคมต้องแบกรับผลของกำลังแรงงานที่หายไปนี้ และผู้เสียภาษีเองก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายภาครัฐที่มาพร้อมกับสังคมสูงวัย ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยเกษียณอายุ ระบบสาธารณสุข และการปรับระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะกับสังคมสูงวัย

เศรษฐกิจไทยไม่สามารถรอเด็กเกิดใหม่เติบโตอีก 18-25 ปี เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ภาครัฐควรใช้มาตรการอื่นแทนการเร่งอัตราการเกิด ที่จะสามารถแก้ปัญหาจำนวนแรงงานลดลงได้รวดเร็วกว่ามาตรการเร่งอัตราการเกิดแบบเดิมๆ เพราะตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ปัญหานี้มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

65ac81579809e4.40893772.PNG

ข่าวที่เกี่ยวข้อง