เด็กพิเศษก่อคดีมีน้อยมาก กรมสุขภาพจิต นิยามเด็กพิเศษ 3 กลุ่ม

เด็กพิเศษก่อคดีมีน้อยมาก กรมสุขภาพจิต นิยามเด็กพิเศษ 3 กลุ่ม

View icon 197
วันที่ 29 ม.ค. 2567 | 16.43 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เด็กพิเศษก่อคดีอาญามีน้อยมาก กรมสุขภาพจิต นิยามเด็กพิเศษ 3 กลุ่ม "สมาธิสั้น ออทิสติก ไอคิวต่ำ" อ้างเป็นเด็กพิเศษเพื่อลดหย่อนโทษ กระบวนการทางกฎหมายตรวจสอบถึง 2 ชั้น

กรณีนักเรียนชั้น ม.2 แทงเพื่อนในโรงเรียน และมีการอ้างว่าผู้ก่อเหตุเป็นเด็กพิเศษ วันนี้ (29 ม.ค. 2567) นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงนิยามของเด็กพิเศษในวัยเรียนนั้น แยกเป็นเด็ก 3 กลุ่ม ได้แก่
1. เด็กสมาธิสั้น มีสติปัญญาเหมือนเด็กทั่วไป แต่อยู่ไม่นิ่ง
2. เด็กออทิสติก เด็กที่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรม ชอบอยู่คนเดียว เล่นคนเดียว แต่อาจมีความโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่ง เช่น วาดภาพ หรือคณิตศาสตร์
3. เด็กที่ไอคิวต่ำ หรือ ปัญญาอ่อน เด็กเหล่านี้ จะปรับตัวเรื่องการเรียนได้ช้ากว่าคนทั่วไป  

สำหรับสติเด็กพิเศษก่อคดีอาญา นพ.จุมภฎ บอกว่า มีน้อยมาก เพราะเด็กที่มีอาการมาก มักเข้าสู่กระบวนการรักษา ไม่สามารถมาเรียนร่วมกับเด็กธรรมดาได้ ยกเว้นเด็กที่มีอาการไม่มาก เช่น สมาธิสั้น สามารถเรียนได้ตามปกติ แค่ชอบแกล้งเพื่อนหรือไม่อยู่นิ่งเท่านั้น 

ส่วนข้ออ้างเรื่องความเป็นเด็กพิเศษขึ้นมาเพื่อลดหย่อนโทษ นพ.จุมภฎ กล่าวว่า มักจะทำในส่วนของผู้ก่อเหตุ แต่ในกระบวนการทางกฎหมาย มีการตรวจสอบถึง 2 ชั้น ในการแยกแยะว่าเด็กพิเศษคนนั้นขณะก่อเหตุ มีสติรับรู้ รับผิดรับชอบ หรือไม่ ซึ่งขั้นตอนตรวจสอบมีคณะกรรมการสหวิชาชีพ ร่วมพิจารณา และมีผู้พิพากษาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง

“การที่เด็กคนหนึ่งจะก่อพฤติกรรมความรุนแรงได้นั้น ขึ้นอยู่ 3 ปัจจัย  ตัวเด็ก ผู้ปกครอง และสิ่งแวดล้อม มีตั้งแต่กระทำเพราะเจ็บป่วย ยาเสพติด ถูกชักจูง ส่วนในมุมครอบครัวก็อาจเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ”